SMEs คือรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่ง SMEs สามารถสร้างงาน และกระจายรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้จากเดิมที่ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการพัฒนาโครงสร้างที่เป็นพื้นฐานเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเท่าใดนัก จึงทำให้ SMEs ไทยที่มีความรู้ความเข้าใจ ทางด้านการบริหารงาน หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่มากนัก จึงต้องพึ่งพาอาศัยกำลังตนเอง และแรงงานราคาถูกเป็นหลัก ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวัน ทั้งในประเทศ และตลาดโลก
เชื่อได้ว่านักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหลายคนกำลังแสวงหาความรู้และคอนเน็กชั่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร รุ่นที่ 11 (SCB SME Intelligent Entrepreneur Program – IEP) ซึ่งจัดโดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถูกจัดขึ้นเพื่อ พัฒนาทักษะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาธุรกิจได้ด้วยตนเอง (Business Self-Diagnosis) และการวางแผนแก้ไขปัญหาและบริหารธุรกิจได้เต็มศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ร่วมโครงการ เนื่องจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนผู้ประกอบการSME ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย จึงจัดโครงการเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร หรือ SCB IEP ขึ้นโดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อเพิ่มพูนทักษะและเสริมสร้างศักยภาพในการวิเคราะห์ธุรกิจและพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับธุรกิจของ SME ให้สามารถพึ่งตนเองในการแก้ไขปัญหาธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจทั้งยังเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ธุรกิจระหว่างผู้เข้าร่วม ผ่านกิจกรรมกลุ่มรูปแบบต่าง ๆ ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายพันธมิตร เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป โดยเน้นการฝึกปฏิบัติจริง (workshop) จากทีมงานผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการบริหารธุรกิจ และการฝึกวิเคราะห์,แก้ไขปัญหาธุรกิจด้วยตนเอง การสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ (Business Network & Sharing) และมี Session สำหรับให้คำปรึกษาตัวต่อตัวจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีกิจกรรมต่าง ๆ หลังการอบรม ที่เจาะลึกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้
คุณทรงวุฒิ ตรีเทพจุลยากูล ผู้บริหาร บริษัท สรรพสินค้าบิวตี้ จำกัด นอกจากจะดำเนินธุรกิจด้านสปาแบบครบวงจรแล้ว ยังดำรงตำแหน่งอุปนายก สมาคมสปาไทยอีกด้วย ตัวแทนผู้ประกอบการจากโครงการ SCB IEP รุ่น 11 ได้เล่าถึงเหตุผลที่เลือกเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร (SCB IEP) ว่า “เหตุผลที่เลือกเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร (SCB IEP) เพราะมองว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ โดยเป็นความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะให้ในส่วนของทฤษฎีการทำธุรกิจ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ให้ในด้านประสบการณ์การทำธุรกิจ เมื่อมีทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ ยิ่งบวกรวมกับคอนเน็กชั่นที่จะได้จากทุกๆ คนที่เข้าร่วมโครงการ เชื่อว่าจะยิ่งช่วยสร้างวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต พอเราได้มาเข้าโครงการนี้ สิ่งที่ได้รับสามารถนำเอาความรู้ที่ได้จากการอบรม เช่น จากการทำโครงงานมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจในอนาคตได้ และที่สำคัญเราได้คอนเน็กชั่นมากขึ้น อย่างในกลุ่มนี้จะมีน้องๆ ที่เป็นโรงงานผลิต ก็จะได้มีธุรกิจร่วมกับโรงงานผลิตในอนาคต หรือมีน้องๆ ที่เป็นพีอาร์ ประชาสัมพันธ์ที่จะช่วยธุรกิจเราได้ มีน้องที่เป็นร้านขายยา ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายในอนาคต หรือมีน้องที่ทำเรื่องการออกแบบ แพ็กเกจจิ้ง เหล่านี้เป็นสิ่งสามารถต่อยอดร่วมกันได้ในอนาคต”
คุณ ชารอน ดัยเดีย เลย์ซั่น ผู้บริหาร Asia Media Services Co., Ltd. นักธุรกิจสาวเจ้าของธุรกิจ Event Management ให้บริการด้านการจัดงานอีเว้นต่าง ๆ รวมไปถึงการเป็นมีเดียเอเจนซี่ เป็นอีกหนึ่งคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้หลังจากได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่เคยผ่านการอบรมไปแล้วในรุ่นก่อน ๆ ซึ่งเปิดเผยว่า แม้ตัวเองจะไม่มีค่อยมีเวลาว่าง เพราะต้องยุ่งกับการทำงาน แต่ก็ยอมที่จะจัดสรรเวลาเพื่อมาเข้าอบรม เพราะคิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของธุรกิจและคอนเน็กชั่น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การกลับมาเรียนอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน ถือเป็นการได้อัพเดตตัวเอง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เหมือนกับการเปิดวิสัยทัศน์ของตัวเองให้กว้างขึ้น คุณ ชารอน กล่าวว่า “มาเรียนแล้วก็ไม่ผิดหวัง แม้จะเป็นคอร์สสั้นๆ แต่สิ่งที่เราได้ คือทั้งมิตรภาพที่เกิดขึ้น ได้คอนเน็กชั่น ได้เพื่อนใหม่ ได้ธุรกิจหลากหลายที่เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจเรา และเราเองก็ไปต่อยอดธุรกิจของคนอื่นได้ด้วย ข้อดีอย่างหนึ่งของที่นี่คือ กลุ่มไม่ใหญ่มาก ประมาณ 60-70 คนต่อรุ่น และด้วยรูปแบบกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้น ทำให้เรารู้จักและสนิทกันได้เร็ว รวมถึงมีโอกาสได้รู้จักกับ IEP รุ่นก่อนเรา ซึ่งมี 10 รุ่น เท่ากับว่ามีผู้ประกอบการเป็นพันคนที่เราจะได้รู้จัก”
คุณวิริยา ท้วมประถม ผู้บริหาร Idea Lounge Group Co., Ltd. เจ้าของธุรกิจออกแบบการ์ดแต่งงาน ของชำร่วย และของใช้สำหรับงานแต่งงานชื่อดัง ซึ่งมีหลายแบรนด์ในเครือ อาทิ วิริยา อันญ่า แคทลียา พรมงคล และร้านจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต www.sweetindustry.com ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความคิดไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่ตั้งใจจะเข้ามาเติมเต็มความรู้ให้กับตัวเอง พร้อมๆ กับการได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ในหลากหลายวงการธุรกิจ โดยคุณวิริยาได้เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า “สิ่งที่ได้หลักๆมีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. เราได้เพื่อนแน่นอน โดยใช้คำว่ามิตรภาพเป็นหลัก ธุรกิจเป็นสิ่งที่ตามมา แต่ละคนที่เรียนอยู่ตรงนี้คือเจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเจอหลายๆ ธุรกิจมารวมกัน แต่ละคนก็มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน เราสามารถแชร์ไอเดียที่แตกต่างกันได้
2. จากที่เราได้ทำโครงงานกลุ่ม ทำให้เรารู้สึกเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เราทำในปัจจุบัน และในตัวโครงงานนี้จะต้องทำ Business Plan ซึ่งบางอย่างพวกนี้เราเคยเขียนไว้นานแล้ว พอมาเรียนอีกครั้งเหมือนได้กลับมารีวิวธุรกิจของเราอีกครั้งว่า เราลืมจุดไหนไปบ้างหรือมองข้ามอะไรไป
3. ไอเดีย ปิ๊งแว็บที่จะเกิดขึ้น เวลาเราได้เจออาจารย์ที่เก่งๆ หรือเพื่อนที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ บางประโยคที่เขาพูดออกมา มันทำให้เรามีแรงบันดาลใจหรือฉุกคิดได้ไอเดียใหม่ๆ”
และ ดร.อภิรดี โฆษิตฐากุล ผู้บริหาร บริษัท บอร์นทร้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการโรงงานผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดธรรมชาติ โดยให้บริการแบบ One Stop Service ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ SCB IEP รุ่น 11 ได้กล่าวถึงความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ว่า “รู้สึกประทับใจเพราะได้ทั้งมิตรภาพที่ดี จากเพื่อนที่มีความจริงใจ ขณะเดียวกันก็ได้ความรู้ควบคู่ไปด้วย บางครั้งทฤษฎีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เคยเรียนแล้ว แต่อาจจะมีหลงลืมไปบ้าง จึงเป็นเหมือนการได้มารีวิวทฤษฎีที่เคยเรียนมาแต่ลืมไป อย่างเรื่องบัญชี การวางแผนภาษี เป็นเรื่องที่ชอบที่สุด เพราะผู้ประกอบการหลายคน โดยเฉพาะ SME อาจจะมุ่งแต่จะขาย จนลืมดูสิ่งเหล่านี้ บางครั้งยอดขายเยอะ แต่กำไรอาจจะน้อยก็ได้ เราได้ความรู้ในเรื่องพวกนี้กลับไปเยอะเหมือนกัน นอกจากนั้น เรายังได้มุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนที่หลากหลายธุรกิจ มาปรับใช้กับตัวเองด้วย เรียกได้ว่าได้ทั้งรีวิวความรู้และได้ networking ไม่ใช่แค่ในรุ่นนะ ทาง SCB IEP มี networking ข้ามรุ่นด้วยที่จะเชิญมาให้เราได้รู้จักกัน”
จากการเรียนรู้ของทั้ง 4 ท่านในโครงการ SCB IEP ส่งผลให้ผลงานที่ได้ร่วมกันทำโครงงานตาม Assignment ของกลุ่ม อย่างMINIME กลายเป็นจริงขึ้นมา แม้จะเป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นในคลาสเรียน แต่ด้วยศักยภาพของผู้ประกอบการเอง ซึ่งมีความถนัดและเชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านทำให้สามารถต่อยอดจากแนวคิดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะนำเอาโปรเจ็กต์ดังกล่าวต่อยอดเป็นธุรกิจจริงๆได้ในเร็วๆนี้ จึงเกิดเป็น MINIME ธุรกิจใหม่ ผลผลิตจาก SCB IEP
สำหรับ MINIME เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ผิวแพ้ง่าย โดยถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น แป้งเนื้อโลชั่น ที่เป็นออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมองว่าปัจจุบันในท้องตลาดยังมีผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีผิวแพ้ง่ายอยู่น้อยมาก จึงเป็นช่องว่างทางการตลาดที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นพลังแห่งมิตรภาพที่ร่วมกันคิด โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละคนในการผลักดันให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ โดยที่มีโครงการ SCB IEP ของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง SME เข้าหากัน
การเรียนรู้เป็นก้าวสำคัญที่จะส่งผลให้SME สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง และมีศักยภาพมากพอในการต่อสู้ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ดังนั้น SME ไทยจึงต้องพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และตัวช่วยทางธุรกิจ เพื่อพร้อมรับและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว