“ทำดีต้องชม” จิตวิทยาของคนที่เป็นหัวหน้า : สุขุม นวลสกุล


ถ้าจะถามว่าระหว่าง “คำชม” กับ “คำตำหนิ” คนทำงานทั่วไปอยากจะฟังคำไหนมากกว่า    แน่นอนครับ  ผมเชื่อว่าทุกคนก็ต้องเลือก”คำชม”   เพราะรู้สึกว่าไพเราะเสนาะโสต  ไม่เหมือน “คำตำหนิ”ที่ฟังแล้วจะรู้สึกระคายหู  ไม่มีใครอยากฟังหรอก  ต่างกันมากเลย

 

“คำตำหนิ”นี่  ฟังไม่ดีหรือฟังแบบหาเรื่องนี่ บางทีเปลี่ยนเป็น “คำด่า” ไปเลยนะ จะบอกให้  เพราะฉะนั้นเวลาต้องว่ากล่าวลูกน้องต้องระมัดระวังสำเนียง  อย่าใช้อารมณ์ผสมเสียงนะครับ  เดี๋ยวเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่  เรื่องธรรมดาเป็นเรื่องพิเศษไปได้

 

อย่างไรก็ตาม  ในการดูแลการทำงานของลูกน้องโดยคนระดับหัวหน้านั้น  มักจะต้องให้ “คำตำหนิ”กับลูกน้องมากกว่า “คำชม”   เพราะหน้าที่หัวหน้าคือการรักษามาตรฐานการทำงานของลูกน้อง  บางคนจึงเลือกที่จะทักต่อเมื่อมีความเบี่ยงเบนจากที่ควรเป็น  ถ้าทำได้ตามมาตรฐานก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไร

 

หัวหน้าบางคนจึงไม่ให้ความสำคัญกับการชมเชยลูกน้องเลย  ด้วยเห็นว่าการทำดีนั้นเป็นหน้าที่ของคนเป็นลูกน้องอยู่แล้ว  เมื่อทำดีจึงเป็นเรื่องธรรมดาไม่เห็นต้องชมอะไร  ชมไปก็ไม่ได้ดีกว่าเดิมเพราะดีอยู่แล้ว  คิดอย่างนั้นจริง ๆ  ลูกน้องจึงไม่ค่อยได้ยินคำพูดที่อยากได้ฟังจากคนเป็นหัวหน้า

 

แต่ถ้าทำอะไรไม่ดีหรือมีบกพร่อง  อย่างนี้ปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่ตำหนิไม่ได้   ไม่เช่นนั้นจะเกิดการเสียการเสียงานมีความเสียหายเกิดขึ้นอีก เพราะฉะนั้นต้องตำหนิให้ได้ยิน  จะได้มีการแก้ไขและเมื่อทำใหม่เรื่องนั้นอีกจะได้ไม่ผิดพลาดอีก บางทีก็ดังมากไปเพราะอยากให้คนอื่นได้ยินด้วยจะได้ไม่ต้องพูดหลายหน  เป็นเหตุให้คนที่โดนมีความรู้สึกอัปยศมากขึ้น

 

เพราะฉะนั้น คนเป็นนายที่มีประสิทธิภาพจึงต้องสอดส่องดูแลเอาใจใส่ ไม่เป็นคนประเภท “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่เอาใจใส่งาน”  เห็นลูกน้องคนใดทำงานไม่ได้ตามมาตรฐาน  ต้องตำหนิให้รู้ตัวโดยทันที  จะได้ระมัดระวังการทำงานไม่ให้ผิดแนว หรือถ้าออกนอกแนวไปแล้วก็จะได้กลับเข้าสู่แนว  ไม่นอกลู่นอกทาง

 

ความคิดดังกล่าวข้างต้นถือแม้ไม่ถือว่าถูกต้อง แต่ก็เป็นเรื่องไม่ผิดหรอก  สมควรที่คนเป็นนายต้องปฏิบัติ  ยังไงก็ดีกว่าคนที่เป็นหัวหน้าแต่ไม่กล้าตำหนิลูกน้อง  กลัวลูกน้องโกรธหรือไม่พอใจ  ถ้าใครคิดอย่างนี้ขอแนะนำว่าอย่ารับตำแหน่งหัวหน้า  ผมขอร้อง   หัวหน้าที่ไม่กล้าตำหนิลูกน้องที่ทำงานไม่ได้มาตรฐาน  ผมถือว่าเป็นหัวหน้าที่ขาดความรับผิดชอบครับ

 

แต่ไม่ได้หมายความว่า  จะเอาแต่เอ่ยปากตำหนิหรือว่ากล่าวโดยไม่ให้ความสำคัญกับ “คำชม” เอาเสียเลย  เพราะคำชมนั้นว่าไปแล้วก็เหมือนกับน้ำทิพย์ชโลมจิตใจคนได้รับให้สดใสมีกำลังใจในการทำงาน  ที่สำคัญคือเกิดความรู้สึกที่ดีกับผู้ที่ให้คำชมกับเขา

 

คำขมที่ว่านี้เป็นคำชมในการทำงานนะครับ  ไม่ใช่คำชมประเภทสายลมแสงแดดไม่ได้มีความหมายจริงจังอะไร เช่น “วันนี้ดูสดใสจริงนะ”  “เจอคนหล่ออีกแล้ว”  ชมอย่างนี้เป็นเรื่องของการหยอกเอินหรือทักทายมากกว่า  ไม่ค่อยได้ผลทางจิตวิทยาที่จะเป็นพลังในการทำงานสักเท่าไหร่  ต้องเป็นคำชมเกี่ยวกับผลงานจึงจะส่งผล  เชื่อผมเถอะครับ

 

ตัวอย่างเช่น  เรามอบหมายงานให้ลูกน้องทำขอให้เขาทำให้เสร็จในสามวัน  ปรากฏว่าเวลาเพิ่งผ่านไปได้สองวันเขาทำเสร็จแล้วเอามาส่งให้แล้ว  พอเรารับงานมา  เชื่อไหมครับ เขาจะยังไม่ถอนตัวไปจากเราโดยทันที  เขาจะยืนอยู่ตรงหน้าเราเพื่อรออะไรบางอย่าง  ซึ่งคนเป็นนายงานต้องรู้ว่าเขารอคำชม

 

ถ้าเราทำเฉยไม่รู้ไม่ชี้  มองหน้าเขาเหมือนถามว่ารออะไร  เขาก็ย่อมเดินจากไปด้วยความผิดหวัง  หัวหน้าบางคนทำอย่างนั้นนะครับ  พอถามว่าทำไมไม่ชมละเขาอุตส่าห์รอ  หัวหน้าผู้อ่านความต้องการของลูกน้องไม่ออกอาจตอบง่าย ๆ ว่า  “ไม่หรอก  ชมทำไม เดี๋ยวมันเหลิง”   เป็นอย่างนั้นไป  ช่างไม่มีจิตวิทยาในการบริหารเอาเลย

 

แต่นั่นแหละ แบบนั้นก็ยังดีกว่าหัวหน้าบางคนที่มองไปคนละมุมเลย ลูกน้องมาส่งก่อนเวลาแทนที่จะชมกลับตำหนิเสียนี่   “รีบจริงนะมึง  กูบอกสามวัน  สองวันมึงเสร็จแล้ว  อย่าให้กูพบข้อผิดพลาดนะมึง  กูเอามึงตายแน่”   ถ้าหัวหน้าเป็นแบบนี้นะ รับรองได้ว่าลูกน้องเจอเข้าทีสองทีก็หนีหน้าหมดแหละครับ

 

ที่ถูกที่ควรประพฤติก็คือต้องให้คำชมครับ  ให้อย่างอื่นไม่ได้เลย  ต้อง “โอ้โฮ เยี่ยมเลยน้อง”  “เก่งจริง ๆ “  “ทำได้อย่างไรนี่ “  “เสร็จแล้วหรือ  ยอด ๆ ๆ “  อะไรทำนองนี้  ถ้าพูดแบบนี้ละก็ได้ใจลูกน้องไปเต็ม ๆ แน่  เผลอ ๆ คราวหน้าแทนที่จะเสร็จเร็วไปแค่วันเดียว อาจจะเป็นเสร็จเร็วขึ้นแค่วันเดียวก็เรียบร้อย……..ฮ่า

 

ชมแล้วชมเลยนะครับ  แม้วันหลังอาจพบว่า งานที่เขารีบส่งให้เรานั้นมีความผิดพลาด  ก็อย่าไปขอคำชมคืนนะครับ  เรื่องอย่างนี้ให้แล้วให้เลย  อย่างที่สมควรทำคือ เรียกมาแนะนำว่า  “วันหลัง ถ้าทำเสร็จเร็ว ก่อนส่งก็ทบทวนซะอีกรอบ น่าจะดีกว่ารีบส่งนะ”  

 

มอบหมายงานอะไรให้ลูกน้องไป  ลูกน้องทำเสร็จแล้วเอามาส่ง  ตรวจแล้วรู้สึกว่าผลงานของเขาออกมาดี  เจอหน้าเขาต้องชมนะครับ  หรือถ้าไม่เจอหน้าเขาแต่เจอเพื่อนเขาจะฝากคำชมไปก็ได้  “นี่ เจอ……..บอกเขาด้วยนะว่างานที่เขาทำเยี่ยมจริง ๆ”   ฝากคำชมนี่เป็นสิ่งที่ทำได้นะครับ เพราะเหมือนกับช่วยกระจายความเก่งของเขาให้คนอื่นได้รู้ได้ทราบด้วย  เจ้าตัวมีแต่ยินดี  ไม่มีใครไม่พอใจหรอก  ผมรับรอง

 

แต่เรื่องตำหนินี่กระจายไม่ได้นะครับ  อย่าเที่ยวฝากคำตำหนิกับใครไปสู่ใครนะครับ เป็นเรื่องแน่ ๆ  การตำหนิต้องถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล  ควรทำในที่ลับไม่ใช่ที่แจ้ง หมายความว่าเป็นเรื่องที่รู้กันสองคนระหว่างเรากับผู้ที่ถูกเราตำหนิ  ไม่บังควรทำในรูปประจานให้รู้กันในวงกว้าง

 

เพราะฉะนั้นเรื่องชมนี่เป็นเรื่องเปิดให้ผู้ร่วมงานรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง  ยิ่งรู้กันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นที่พอใจของผู้ถูกชมเท่านั้น   ดังนั้นถ้าเป็นเรื่องสำคัญอยากให้คนลอกเลียนแบบหรือเอาเป็นตัวอย่างอาจชมในที่ประขุมเลยก็ยังได้ 

 

ส่วนเรื่องตำหนินั้นต้องเป็นเรื่องไปรเวทแม้จะเป็นเรื่องงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัว  อย่าไปประจานในการประชุมเป็นอันขาด  แม้เอาเรื่องไปเล่าในที่ประชุมโดยไม่เอ่ยชื่อผู้กระทำก็เถอะ  เพราะคนโดนรู้ดีว่า “หัวหน้าเขาด่ากู ไม่ได้ด่าคนอื่น”  แล้วเชื่อด้วยว่า  คนอื่นต้องรู้ว่าคือกูนี่แหละ  ตอนฟังอาจจะยังไม่รู้  แต่ท้ายที่สุดก็คงเดากันจนถูกแน่นอน

 

หัวหน้าที่รู้จักชมลูกน้องในวาระที่ควรชม  วันหลังลูกน้องที่เราเคยชมเกิดทำผิดพลาดขึ้นมาแล้วเราไปตำหนิเขา  เขาอาจไม่รู้สึกในทางร้ายกับเรา  เขาอาจจะคิดว่าเราเป็นคนตรงไปตรงมา  ทำผิดก็ตำหนิทำดีก็ชม  แต่ถ้าเราไม่เคยชมใครเลย เอาแต่ตำหนิเป็นหลักอย่างเดียว  ลูกน้องอาจจะนินทาเอาก็ได้ว่า  “หัวหน้า แกก็เป็นคนแบบนี้แหละ  คอยแต่จะจับผิดลูกน้องท่าเดียว”  เป็นอย่างนั้นไป

 

เพราะฉะนั้น  จิตวิทยาอย่างหนึ่งของคนที่เป็นหัวหน้าก็คือ  เห็นลูกน้องทำดีอย่าลืมชมนะครับ