จีนในขณะนี้เปรียบเหมือนประเทศที่มี 2 ด้าน ซึ่งมีความขัดแย้งในตัวมันเอง ในด้านภายใน จีนกำลังเผชิญกับความจำเป็นในการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ในทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้อัตราการเติบโตชะลอตัวลงในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ อีกด้านหนึ่ง จีนกำลังแสดงแสนยานุภาพภายนอกทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ในด้านภายใน ประเทศจีนกำลังอยู่ในขั้นตอนที่เรียกว่า New normal หรือแปลว่า ความปกติแบบใหม่ ซึ่งความจริงคือ การประชาสัมพันธ์เพื่อซ่อนเร้นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้น ข้อเท็จจริงของ New normal ก็คือ Abnormal หรือความไม่ปกตินั่นเอง ความไม่ปกติของเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นจากการท้าทายที่รอการแก้ไขจากรัฐบาลจีน กล่าวคือ จีนกำลังเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากผลิตสินค้าที่เริ่มแข่งขันลำบากในโลก เนื่องจากประเทศจีนมีค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีกว่า 2 ทศวรรษ จีนจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับสินค้าจากการพึ่งพาแรงงานมาสู่สินค้ามูลค่าเพิ่ม พัฒนาด้าน IT ก่อนหน้านี้กลไกการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะมาจากการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกย่ำแย่ลง ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวไม่ดีนัก อีกส่วนเกิดจากขีดความสามารถในทางแข่งขันของสินค้าลดลง ผลจากการกระตุ้นผ่านการลงทุนของภาครัฐนั้นก็ได้ส่งผลกระทบในด้านลบ กล่าวคือ ทำให้เศรษฐกิจจีนแม้จะขยายตัวสูงเฉลี่ย 10% แต่ก็ทำให้เกิดการขยายตัวของลูกโป่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทำให้เกิดการขยายตัวของ shadow Bank หรือธนาคารเงา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น และจำนวนหนี้เหล่านี้พุ่งสูงขึ้นไปถึง 260% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
รัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งหมดด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยปรับประเภทสินค้าให้เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม พัฒนาทางด้าน IT หันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ ชดเชยการส่งออกและทดแทนการลงทุน แม้ว่าขณะนี้ทิศทางการปรับตัวจะอยู่ในลักษณะที่อยู่ในกรอบดังจะเห็นได้ว่าจากข้อมูลไตรมาส 3 นี้ การบริโภคขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ภาคการบริการขยายตัวจนถึงระดับ 51% ของ GDP ในขณะที่ภาพอุตสาหกรรมลดลง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นที่จับตาและเป็นห่วงในหมู่นักลงทุนคือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ดังจะเห็นได้ว่าในไตรมาส 3 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.9% และนักวิเคราะห์ก็คาดการณ์ว่า ปีหน้าจะขยายตัวลดลงต่ำลงไปอีก การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ ผสมผสานกับการที่ตลาดหุ้นตกลงอย่างมากมายเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนตัวลงรุนแรง ปรากฏการณ์ทั้ง 3 กรณีทำให้นักลงทุนเริ่มคลางแคลงใจ และลดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจีนในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงขาลงนอกจากนั้นการเข้าไปแทรกแซงตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนของจีนนั้น จีนต้องใช้เงินสำรอง 5 แสนล้าน ซึ่งทำให้ทุนสำรองลดลงจาก 4 ล้านล้านอย่างฮวบฮาบ นักวิเคราะห์เริ่มตั้งข้อสงสัยในเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมากขึ้น กล่าวคือ นักวิเคราะห์เริ่มไม่ไว้ใจตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ตั้งข้อสงสัยว่า จีนรวมเงินหยวนในต่างประเทศเข้ากับทุนสำรองระหว่างประเทศหรือไม่ หรือกล่าวอีกอย่างคือ ตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะถ้าเงินสำรองลดลง ประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจของจีนในช่วงขาลงจะมีข้อจำกัดมากขึ้น ในการประชุมของ World Bank และ IMF เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็มีความเป็นห่วงถึงปัญหาเศรษฐกิจจีนในอนาคตและปัญหาเศรษฐกิจจีนก็เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยและมีการคาดการณ์ด้วยว่า อาจจะต้องรอถึงเดือนมีนาคมปีหน้ากว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะขึ้น
ในขณะที่จีนกำลังสาละวนกับปัญหาภายใน จีนก็ต้องแสดงแสนยานุภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในภายนอก ในด้านเศรษฐกิจ จีนก็ให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนต่างประเทศทั้งในแง่การตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) และ BRICS Bank ช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเช่น การช่วยเข้ามาสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงหนองคายกับมาบตาพุดของไทย และล่าสุดจีนลงนามข้อตกลงกับอังกฤษในการเข้าไปลงทุนกิจการโรงงานไฟฟ้าปรมาณูของอังกฤษ ตลอดจนการลงทุนในด้านอื่น ๆ มีมูลค่ารวมถึง 3 หมื่นล้านปอนด์ และเป็นเหตุผลที่นายกอังกฤษให้การต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงด้วยพรมแดงที่ยาวที่สุด และเป็นการให้เกียรติทางการทูตในระดับสูงสุด ในด้านต่างประเทศ จีนได้แสดงแสนยานุภาพด้วยการพัฒนาเส้นทางสายไหม one road one belt โดยมีการเชื่อมต่อกับยุโรปโดยเส้นทางเรือไปยังเมือง Pyreus ของกรีก เชื่อมโยงรถไฟและถนนจากปักกิ่งผ่านไซบีเรียไปยุโรปตะวันออก และเชื่อมโยงเกี่ยวกับเส้นทางพลังงาน เช่น ท่อแก๊ส น้ำมัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า จีนสนใจโครงการขุดคอคอดกระเพราะโครงการดังกล่าวถ้าทำสำเร็จจะช่วยร่นระยะทาง 1,200 กิโลเมตร ลดระยะเวลาในการเดินทาง 3 วัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งน้ำมันในกับจีน ประเทศจีนพึ่งพาน้ำมันซึ่งขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาถึง 80% คอคอดกระจะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ลง ยิ่งกว่านั้นจีนยังขยายบทบาทต่างประเทศในเรื่องค่าเงินหยวนเพื่อที่จะให้ค่าเงินดังกล่าวเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ
ในด้านยุทธศาสตร์ทางการเมือง จีนได้ขยายอิทธิพลทางการทหารและการเมืองไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งในตะวันออกกลางโดยเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในการคว่ำบาตรข้อมติที่สหรัฐฯ และยุโรปสนับสนุนในคณะมนตรีความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิหร่านหรือซีเรีย ในภูมิภาคเอเชีย จีนได้ขยายอิทธิพลครอบคลุมทั้งทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกด้วยการกำหนดเส้นทางเดินเรือที่ถือว่าเป็นอาณาเขตของตนในกรอบ 9-Dash Zone ซึ่งก็กระทบกับประเทศอาเซียนที่เรียกร้องสิทธิในเกาะสแปรทลีย์ และหมู่เกาะพาราเซลไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บูรไน และมาเลเซีย ตลอดจนไต้หวัน นอกจากนั้นจีนยังถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมในบริเวณดังกล่าวโดยอ้างว่าเอาไว้ควบคุมโจรสลัด ในทางอากาศ จีนได้ประกาศเขตภายใต้การควบคุมที่เรียกว่า Air Identification zone นอกจากนั้นจีนยังเพิ่มงบทางการทหารและเน้นพัฒนากองทัพเรือให้เข้มแข็งเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองเส้นทางเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่อ่าวไทยและทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก การขยายอิทธิพลทางอากาศและทางเรือนำไปสู่การรวมตัวด้านความมั่นคงของอาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้นำนโยบายถ่วงดุลจีนที่เรียกว่า ตอกหมุดเอเชีย (ปัจจุบันเรียกว่า Rebalancing) และในอนาคตนี้ สหรัฐฯ ซึ่งปฏิเสธการรับรู้และการเรียกร้องสิทธิของจีนทั้งทางทะเลและอากาศจะเริ่มส่งกองเรือไปสู่บริเวณดังกล่าว เพื่อส่งสัญญาณให้อาเซียนและญี่ปุ่นรู้ว่าอเมริกาเป็นพันธมิตรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ
ประเทศจีนในขณะนี้จึงมีปรากฏการณ์ที่สะท้อนภาพฉาย 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาภายใน ขณะเดียวกันด้านหนึ่งก็สะท้อนแสนยานุภาพเพื่อให้โลกรับรู้ว่าจีนกำลังขยายตัวเป็นมหาอำนาจทั้งของภูมิภาคและของโลก
ยุทธศาสตร์จีนมีผลกระทบต่ออาเซียนและไทยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้