เมื่อสายเสียงอักเสบจะดูแลรักษาอย่างไร ?


      ภาวะสายเสียงอักเสบแอดมินคาดว่าหลายท่านคงเคยเป็นกัน หลังจากผ่านการดูคอนเสิร์ต เชียร์กีฬา หรือมีกิจกรรมที่ใช้เสียงอย่างหนัก  จะมีวิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันอย่างไร ? วันนี้เรานำความรู้ดี ๆมาจากบทความของรศ.นพ. ปารยะ   อาศนะเสน  ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาฝาก
       สายเสียงอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ มักจะมีอาการเสียงแหบอยู่นาน 1 สัปดาห์ หรือทุเลาหลังได้รับการรักษาที่ถูกต้องเพียงไม่กี่วัน ส่วนผู้ที่เป็นสายเสียงอักเสบจากการใช้เสียง สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด เมื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ก็มักจะทุเลาได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่สายเสียงอักเสบจากการระคายเคือง เช่น จากโรคกรดไหลย้อน หรือใช้เสียงผิดวิธีก็มักจะเป็นอยู่นานตราบเท่าที่ยังสัมผัสสิ่งระคายเคืองนั้น ๆ หรือเป็น ๆหาย ๆ ไปเรื่อย ๆ
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
           •  หลีกเลี่ยงการพูดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรมีเวลาสำหรับหยุดพักการใช้เสียงด้วย เช่น ทุกครึ่ง-1 ชั่วโมง
           •  หลีกเลี่ยงการพูดแข่งกับเสียงดังอื่น ๆ หรือพูดในที่มีเสียงดังรบกวน เช่น เสียงเครื่องจักร เสียงเพลง เสียงรถยนต์   เสียงจอแจต่าง ๆ ถ้าจำเป็นควรเขยิบไปใกล้ ๆ ผู้ฟัง หรือใช้เครื่องขยายเสียงช่วย
            •  หลีกเลี่ยงการร้องเพลงหรือพูดมาก ขณะป่วยร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย, มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (เช่น เป็นหวัด  หรือเจ็บคอ) หรือขณะออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการพูดขณะอยู่ในสภาพจิตใจและอารมณ์ผิดปกติ เช่น โมโห ตกใจ กลัว
            •  หลีกเลี่ยงการพูดกระแทกเสียง เน้นคำ หลีกเลี่ยงการกระซิบ หรือบ่นพึมพำในลำคอ
            •  หลีกเลี่ยงการไอ กระแอม ขากเสมหะ หรือจามบ่อย เพราะจะทำให้สายเสียงกระทบกับอย่างรุนเเรง ถ้ามีอาการเหล่านี้บ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา เมื่อใดรู้สึกว่ามีเสมหะ จำเป็นต้องกระแอม ควรกลืนหรือดื่มน้ำ ไอ กระแอม หรือขากเสมหะเบา ๆ
            •  หลีกเลี่ยงการพูดดัดเสียง หรือเลียนเสียงแปลก ๆ ควรใช้จังหวะการพูดที่ดี ไม่พูดเร็วเกินไปจนหายใจไม่ทัน ควรพูดช้า ๆ และหยุดพักเป็นช่วง ๆ เพื่อหายใจ  
            •  หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป  
            •  หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับบุคคลที่กำลังสูบบุหรี่
            •  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด ร้อนจัด เย็นจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวาน หรือมันจนเกินไป เพราะจะทำให้น้ำลายหรือเสมหะ เหนียวข้น รู้สึกระคายคอ ทำให้อยากไอกระแอมมากขึ้น
          •  หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง ควันพิษ อากาศไม่บริสุทธิ์ หรือสารเคมีที่ ๆ มีอากาศแห้งหรือเย็นจนเกินไปเช่น ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกล่องเสียงและสายเสียงได้ง่าย
          •  หลีกเลี่ยงการใช้ยาอมแก้เจ็บคอ แก้ไอ ยาสเปรย์พ่นคอ ซึ่งมีส่วนผสมของยาชา จะทำให้ใช้เสียงได้มากขึ้น ทำให้การอักเสบของสายเสียงแย่ลง
 
ขอบคุณรูปจาก https://pixabay.com/