ในการค้ามีตำนาน ตอนฝิ่นในยุคฟรีเทรด : บัณรส บัวคลี่


Jesus Christ is free trade, free trade is Jesus Christ

 “พระเยซู คริสต์คือการค้าเสรี และการค้าเสรีก็คือพระเยซูคริสต์” เป็นประโยคทองที่ เซอร์ จอหน์ เบาริ่ง ได้กล่าวไว้

 จอห์น เบาริ่งไม่ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาการค้ากับสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 เพียงประเทศเดียว หากยังเดินทางข้ามมหาสมุทรไปทั่วเพื่อภารกิจเปิดเสรีการค้าของเขา เบาริ่งเชื่อและศรัทธาในแนวทางการค้าเสรีอย่างจริงจัง เขาไปเป็นผู้ว่าการเกาะฮ่องกงแล้วก็มีส่วนวางรากฐานระบบการค้าแบบใหม่ของที่นั่น ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการค้ายุคใหม่ต่อมาอีกร่วมร้อยปี แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระเจ้าของเบาริ่งจะได้สร้างความมั่งคั่งและระบบเศรษฐกิจโลกแบบใหม่ขึ้นมาในศตวรรษที่ 20 แต่ก็ยังความสูญเสียตกต่ำให้กับผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

 

ฟรีเทรด ของเบาริ่งจึงน่าจะเป็นแค่พระเจ้าของฝ่ายที่ได้เปรียบเท่านั้น

 

ที่จริงแล้วศัพท์และกระบวนทัศน์ของคำว่า ค้าเสรี หรือ Free Trade เพิ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการที่ฝรั่งประสบความสำเร็จในการเดินเรือสำรวจโลก แต่เมื่อไปถึงที่ไหนก็มักจะเจอเจ้าพ่อ เจ้าแม่ประจำถิ่นผูกขาดการค้าแต่ช่องเดียว อยากจะซื้อหรือขายอะไรต้องทำผ่านเจ้าพ่อ เจ้าแม่ท้องถิ่น มันจึงเกิดเป็นความคิดเรื่องการค้าเสรีขึ้นมา

 

ซึ่งหากมองในแง่พัฒนาการของทุน แน่นอนที่สุด การค้าเสรีนั้นนำมาซึ่งขยายเพิ่มของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งอย่างไม่ต้องสงสัย แต่โลกของความเป็นจริง มันไม่เคยมีอำนาจทางเศรษฐกิจล้วนๆ หรืออำนาจทางการค้าล้วนๆ บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษจึงกลายเป็นผู้ปกครองไปด้วย เช่นเดียวกับบรรษัทการค้าของชาติตะวันตกอื่นๆ เช่นอีสต์อินเดียของดัทช์ในอินโดนีเซีย

 

ในโลกของความเป็นจริง ไม่เคยมีอะไรที่เท่าเทียมกัน มันมีผู้ได้เปรียบผู้เสียเปรียบ มียักษ์ใหญ่กินคำโต กำปั้นใหญ่กว่าคนอื่นเสมอมา อย่างเช่นอังกฤษใช้ข้ออ้างจะขายฝิ่นอย่างเสรี แต่จีนไม่เปิดตลาดให้ มันจึงเกิดการรบกันขึ้น เพราะสิ่งที่ลึกกว่าการค้าเสรีก็คือการคาดหวังกำไรสูงสุดตามแบบฉบับของพ่อค้า

 

ตอนที่เบาริ่งมาทำสนธิสัญญากับสยาม ไทยเราต้องเปลี่ยนระบบจากเดิมที่พระคลังหลวงเป็นผู้ผูกขาดสินค้าไว้ในมือ มาเป็นการซื้อขายโดยตรงแล้วก็ให้จ่ายภาษีเข้าหลวงแทน ยกเว้นแต่สินค้าผลประโยชน์ของผู้ที่ได้เปรียบ นั่นก็คือ ฝิ่น (ซึ่งในยุคนั้นมันคืออะไรที่ขายกำไรดี) อังกฤษสามารถนำฝิ่นมาขายได้แต่ห้ามขายคนทั่วไป จะต้องขายผ่านเจ้าภาษีนายอากรฝิ่นเท่านั้น ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าเจ้าภาษีผู้ได้รับอนุญาตขายก็ต้องบวกกำไรเพิ่มตามสไตล์คนกลางผูกขาด แต่ถึงกระนั้นก็ยังขายได้เสมอ เพราะฝิ่นมันไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคปกติเสียที่ไหน มันเป็นยาเสพติด ดีมานด์ของตลาดไม่ลดลงหรือผันแปรกับราคาเหมือนสินค้าทั่วไป

 

แต่โลกในยุคนั้นก็ยังถือว่านั่นเป็นปกติของการค้าเสรี – Free Trade!

 

การเปิดเสรีค้าสินค้าทั้งดีทั้งชั่ว ขอให้เป็นสินค้าขายได้ต้องเสรีได้ทั้งนั้น ทำเอาจีนกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียอยู่นานทีเดียว

 

ก็เพราะโลกการค้าเมื่อ 100 ปีก่อน ยังรู้จักแต่ Free Trade ที่สร้างความมั่งคั่งแก่มหาอำนาจเรือปืน (ตลอดถึงพื้นที่และผู้คนเครือข่ายสวามิภักดิ์) แต่ยังไม่มีใครพูดเรื่อง Fair Trade หรือการค้าที่เป็นธรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว คำๆ นี้เพิ่งจะมาถูกพูดถึงมากขึ้นในยุคหลัง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการเจรจาการค้าโลก WTO มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตผู้นำมาเลเซียเป็นอีกคนที่ประกาศเรื่อง Fair Trade มากเป็นพิเศษ มาเลเซียในยุคมหาเธร์ไม่โลกาภิวัตน์ ตามแนวตะวันตก อะไรก็เสรีจ๋า มีครั้งหนึ่งที่ข้อตกลงการค้าอาเซียนเริ่มบังคับ ให้ลดเพดานนำเข้าสินค้ารถยนต์ลงมา แต่มาเลเซียไม่ทำตาม เพราะเขาเห็นว่า รถยนต์ประจำชาติยี่ห้อโปรตอนยังไม่แข็งแรงพอ หรือกระทั่งตอนวิกฤตต้มยำกุ้งมาเลเซียก็เลือกวิธีที่สวนกับข้อแนะนำของ IMF และเวิลด์แบงค์  ปิดประตูประเทศ หยุดการไหลออกของเงิน แล้วก็ทำให้มาเลเซียผ่านวิกฤตมาได้โดยไม่บอบช้ำ

 

ในยุคแรกของโลกการค้าเสรีซึ่งฝิ่นยังเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย คู่ค้าต้องเปิดตลาดรับ (ตามที่มหาอำนาจนักการค้ากำหนด) สังคมที่อยู่ปลายทางที่เป็นผู้บริโภคหรือนำเข้าอย่างเดียวเสียเปรียบเต็มประตู มีแต่เอาเงินแพงๆ จ่ายออกไปแลกกับควันและสุขภาพที่ย่ำแย่ของผู้คน พละกำลังของเมืองก็เหี่ยวสูญไปพร้อมๆ กับขบวนคนติดฝิ่น

 

มันมีตัวอย่างมากมายที่บอกว่า Free trade ควรจะต้องมาพร้อมๆ กับ Fair Trade ตัวอย่างง่ายที่สุดคือเรื่องฝิ่นอีกนั่นแหละ… ฝิ่นเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวๆ ต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้มีแค่ชุมชนชาวจีนในสยาม หรือในจีนเท่านั้น ขนาดลึกเข้าไปในลาว เมืองหลวงพระบาง ก็มีคนติดฝิ่นแล้วก็ติดกับงอมแงมเหมือนกัน แล้วสินค้าเปิดเสรีดังกล่าวก็มีผลกระทบด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจของลาวที่ชัดเจนมาก

 

เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ได้ส่งกองทัพปราบฮ่อไปยังเมืองลาว กองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกไปทางหลวงพระบางถึงสองรอบในเวลาต่อเนื่องกัน และได้มีบันทึกเกี่ยวกับสินค้าฝิ่นที่น่าสนใจ …

 

“ราษฎรเมื่อจะต้องการทำอะไรก็ทำเอา เช่นอยากจะกินเหล้าก็ต้มเหล้ากินตามชอบใจ ไม่มีใครตรวจตราจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อใครมีความคิดหลอกลวงได้อย่างไรก็หลอกลวงให้หลงเชื่อ แล้วก็เก็บเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เช่นบอกว่าสูบฝิ่นแล้วกันไข้ป่าอย่างรุนแรงได้ พวกราษฎรเชื่อ สูบฝิ่นกันทั้งชายหญิงทั้งเมือง”

 

“เงินทองของเมืองนครหลวงพระบางพวกเมืองจีนมาขนเอาไปหมด ถ้าคิดดูแล้วปีหนึ่งเงินออกจากเมืองหลวงพระบางในเรื่องเหล่านี้ตั้งแสนบาท เพราะพวกที่เชื่อว่าเป็นยาแก้และกันไข้ป่าได้นั้น ขนเอาเงินไปซื้อฝิ่นที่เรียกว่าฝิ่นลิ้นกระบือจากพวกจีนฮ่อที่นำมาจากเมืองยูนาน และเที่ยวจำหน่ายขายแก่พวกลาวเมืองหลวงพระบางและมณฑลพายัพด้วย ปีหนึ่งประมาณเงินหลายแสนบาท ก็เท่ากับพวกลาวในพระราชอาณาเขตนำเงินนับแสนๆ ไปซื้อเอาฝิ่นมาเผาเป็นควันไปหมด ส่วนเงินตกเข้าไปอยู่ในประเทศจีน”

 

“เดิมเมืองหลวงพระบางใช้เงินรูเปียเรียกว่าเงินแถบ เมื่อได้ยกกองทัพมาครั้งที่หนึ่ง เงินแถบยังมีเต็มอยู่ทั่วอาณาเขตหลวงพระบาง….. พอยกกองทัพครั้งที่สอง คราวนี้มาถึงเมืองหลวงพระบางหาเงินรูเปียไม่ได้ มีแต่เงินสยามทั่วไปทั้งนั้น ข้าพเจ้า (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) เห็นแปลกมากจึงได้สืบสวนดูเพราะเหตุไรจึงหมดไป ได้ความว่าพวกลาวเมืองหลวงพระบางและพายัพได้นำเงินรูเปียไปซื้อฝิ่นฮ่อ พวกฮ่อขายตามน้ำหนักเงิน เมื่อตกลงกันแล้วฮ่อเอาเงินนั้นไปหลอมแยกธาตุอื่นออกหมดเหลือแต่ธาตุเงินอย่างเดียว หล่อเงินเป็นลิ่มเหมือนรูปเรือตะเภา ด้วยความเอาเปรียบของพวกจีนฮ่อนั้นถึงกับลงทุนลงแรงบรรทุกเอาเครื่องหลอมเงินมาพร้อมกับสินค้าบรรทุกหลังม้าและโคต่างมาถึงตำบลที่เป็นตลาด ก็มีพวกลาวไปคอยซื้อฝิ่น…. เช่นนี้เงินรูเปียจึงถูกหลอมหมดไป”

 

การซื้อขายฝิ่นแบบที่เกิดในหัวเมืองลาวเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ดูเผินๆ ก็เป็นไปตามหลักการค้าเสรี เพราะมีดีมานด์ ซัพพลาย ข้อตกลงเป็นไปตามความต้องการสองฝ่าย อีกทั้งฝิ่นก็เป็นสินค้าที่โลกยุคนั้นยอมรับ มหาอำนาจฝรั่งในเอเชียทั้ง อังกฤษ ดัทช์ ฝรั่งเศส เองก็รวยจากฝิ่นถ้าไม่ขายเองก็เก็บภาษีฝิ่นนอนกินร่ำรวยไป แต่หากใช้สายตาของยุคใหม่ไปจับจะพบว่ามันไม่มีความเป็นธรรมใดๆ เลยเริ่มตั้งแต่ตัวสินค้าไปจนถึงกติกาที่กำกับ มันจึงทำให้พ่อค้าฝิ่นทำกำไรสูงสุดจากเนื้อเงินบริสุทธิ์แบบขูดเลือดขูดเนื้อเล่นเอาระบบเงินตราที่ใช้กันเดิมของลาวแทบหมดไปทั้งตลาด

 

อันที่จริง ข้อตกลงการค้าระดับโลกหลายๆ เรื่องที่กำลังเกิดขึ้น ก็ไม่ได้ต่างไปจากการค้าฝิ่นเสรีเมื่อร้อยปีก่อนเท่าไร สินค้าและบริการบางอย่างภายใต้การผลักดันของระบบการค้าเสรีมีผู้ได้ประโยชน์สูง และอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้ แต่ก็มีการพยายามโน้มน้าวไม่ให้คู่ค้ามองเห็นความเสียหายจากมัน อย่างเช่นกรณีพืช GMO เป็นต้น