SMEs มีตัวช่วยทางการเงิน : รัญชนา รัชตะนาวิน


โค้งสุดท้ายจากการช่วยเหลือทางภาครัฐ อนุมัติโครงการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และเพียงพอต่อการลงทุน โดยมีมาตราการสำคัญหลัก คือ (1) มาตรการด้านการเงิน และ (2) มาตรการด้านภาษี

 

มาตรการด้านการเงิน

 

1.  SMEs สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าตลาด หรือ Soft Loan ไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี รวมมีวงเงิน 1 แสนล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี

 

2.  กระทรวงการคลัง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้รัฐบาลค้ำประกันร้อยละ 70 และที่เหลืออีกร้อยละ 30 แบ่งเป็น (1) บสย. ร้อยละ 15 และ (2) ร้อยละ 15 ที่เหลือ ให้ บสย. และธนาคารพาณิชย์ร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ได้มากขึ้น รวมถึงลดภาระความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ลดลง

 

3.  ตั้งกองทุนเข้าช่วยเหลือ SMEs ขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการลงทุน โดยมีธนาคาร 3 แห่งร่วมทุนกัน คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารละ 2 พันล้านบาท รวมเป็น 6 พันล้านบาท และธนาคารอาจจะเข้าไปถือหุ้นของ SMEs บางส่วน

 

               

มาตรการด้านภาษี

 

1. SMEs ที่ตรงตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543

 

2. สามารถได้รับการลดหย่อนภาษีร้อยละ 10 ในระยะเวลา 3 ปี หรือ 2 รอบบัญชี

 

3. SMEs ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือ Start up ในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เช่น เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม เป็นต้น แต่มีต้นทุนและการลงทุนสูง สามารถยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี

 

มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS5) เป็นโครงการปรับปรุงใหม่ล่าสุด ของ บสย. โดยมีวงเงินค้ำประกันสูงสุดถึง 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 7 ปี คุณสมบัติของผู้ประกอบการ คือ มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 2 ร้อยล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม เมื่อได้รับสินเชื่อแล้วต้องไม่คืนหนี้เดิมกับธนาคารผู้ให้กู้เดียวกัน มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และสามารถจ่ายชำระหนี้คืนต่อสถาบันการเงินได้ ผู้กู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ขั้นต่ำ และอัตราค่าธรรมเนียมมีดังนี้

 

1. ปีที่ 1 ไม่เสียค่าธรรมเนียมค้ำประกัน*

 

2. ปีที่ 2 ผู้กู้จ่ายค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.50 ต่อปี รัฐช่วยค่าธรรมเนียม ร้อยละ 1.25 ต่อปี*

 

3.  ปีที่ 3 ผู้กู้จ่ายค่าธรรมเนียม ร้อยละ 1.00 ต่อปี รัฐช่วยค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.75 ต่อปี*

 

4. ปีที่ 4 ผู้กู้จ่ายค่าธรรมเนียม ร้อยละ 1.50 ต่อปี รัฐช่วยค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.25 ต่อปี*

 

5. ปีที่ 5 – 7 ผู้กู้จ่ายค่าธรรมเนียม ร้อยละ 1.75 ต่อปี *รัฐช่วยค่าธรรมเนียมแทนผู้กู้รวม 4 ปี สูงสุดถึงร้อยละ 4

 

ทั้งนี้ จะสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 มิถุนายน 2559 หรือวงเงินค้ำประกันครบ 1 แสนล้านบาท แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน

 

มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up เพื่อผู้ประกอบการรายใหม่ โดยจะต้องเป็น SMEs รายใหม่ที่ยังดำเนินการไม่ถึง 3 ปี ผ่านการฝึกอบรมหรืออยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น การตลาด การผลิต การจัดการ และการเงิน จากหน่วยงานที่ บสย. เห็นชอบ มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 2 ร้อยล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม เมื่อได้รับสินเชื่อแล้วต้องไม่คืนหนี้เดิมกับธนาคารผู้ให้กู้เดียวกัน วงเงินค้ำประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 7 ปี อัตราค่าธรรมเนียม ค้ำประกันปีแรก ฟรี ปีถัดไปผู้กู้ชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 2.5 ต่อปีของวงเงินค้ำประกัน  ทั้งนี้ สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือวงเงินค้ำประกันครบ 1 หมื่นล้านบาท แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน