บูรพา-อาคเนย์ การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติในพม่า (ที่อำนาจเก่ายิ้มร่า) : บัณรส บัวคลี่


ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ได้บอกว่า ตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชเมื่อพ.ศ.2491 ยังไม่เคยมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองที่ราบรื่นด้วยดีแม้แต่ครั้งเดียว พอเริ่มต้น นายพลอองซานบิดาของอองซานซูจี ถูกบุกสังหารเสียชีวิตระหว่างช่วงเวลาการส่งมอบอำนาจจากผู้ปกครองอังกฤษ ก่อนหน้าวันประกาศเอกราชเพียงไม่กี่เดือน

มันมีเกร็ดที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือชนชั้นนำพม่าในช่วงรับมอบเอกราชได้ดูฤกษ์ยามกันตามประสาคนละแวกภูมิภาคนี้ถือโชคลางกันถ้วนหน้า (อย่าว่าพม่าเลยไทยเราจะปฏิวัติกันก็ดูดวงเหมือนกัน) ขนาดขอให้อังกฤษทำพิธีกันตอนตีสี่ยี่สิบนาที…แบบว่าแหกขี้ตาฉีกหมอกหน้าหนาวเดือนมกราคมกันออกมาทำพิธีกันเลย ก็เลยน่าสนใจสำหรับท่านที่ชอบทางด้านโหราศาสตร์ลองไปพิจารณากันดูนะครับว่าฤกษ์ 4.20 น.ของวันที่ 4 มกราคม 2491 ตามเวลาย่างกุ้งนั้นอันถือเป็นวันชาติและดวงเมืองของพม่านั้น มันเป็นฤกษ์หรือดวงเมืองแบบไหน จึงไม่ปรากฏความสงบเอาเสียเลย

หลังจาก นายพลอองซาน สิ้นไป อูนุ ซึ่งเป็นเบอร์สองของคณะเรียกร้องเอกราชก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ในยุคนั้นพม่ามีสง่าราศี เป็นชาติใหญ่ของเอเชียขนาดที่ อูถั่น ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสหประชาชาติเป็นหน้าเป็นตาให้กับคนเอเชียผิวเหลือง มหาวิทยาลัยร่างกุ้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำมีมาตรฐานสูงมาก (ขนาดที่แงซายตัวเอกลำดับสองของเพชรพระอุมายังจบจากมหาวิทยาลัยนี้) แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวก็ยุติลงหลังจาก นายพลเนวินทำรัฐประหารเมื่อปี 2505 นำประเทศสู่เส้นทางสังคมนิยม จนกลายเป็นแช่แข็งระบบเศรษฐกิจเกิดปัญหามากมายตามมา เหตุการณ์จลาจลใหญ่ 1988 พ.ศ. 2531 เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสื่อมทรุดของระบอบเนวิน นักศึกษาประชาชนลุกฮือจนทำให้คณะทหารของเนวินเองทำรัฐประหารแล้วใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นบาดแผลสำคัญอีกครั้งของลุ่มอิระวดี

สลอร์คเป็นคณะทหารที่สืบอำนาจยาวนานมาก นับจากปี 1988 ต่อเนื่องมาถึงเปลี่ยนเป็น SPDCผ่านการปฏิรูปใหญ่ 2011 (2554) ให้มีรัฐธรรมนูญ จนถึงการเลือกตั้งล่าสุด จนบัดนี้ก็ 28 ปีแล้วที่กลุ่มอำนาจที่ปกครองพม่ายังเป็นคนกลุ่มเดิมหรือรับมอบต่อเนื่องมาจากกลุ่มเดิม แต่ก็น่าสนใจว่าในการสืบเนื่องอำนาจกันมาภายในกลุ่มเดิมๆ ด้วยกันเองก็ยังมีความรุนแรงไม่เรียบร้อยอยู่ดี เช่นกรณีการปลดขิ่นยุ้นต์ออกจากวงอำนาจ เหตุการณ์นั้นทำให้นายพล สุระ ฉ่วยมาน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ อูมินอองหล่าย ผบ.สูงสุดคนปัจจุบัน ได้ก้าวขึ้นมาอยู่บนแท่นลำดับแทน
เต็งเส่งบอกกับนางอองซานซูจีว่าจะพยายามส่งมอบอำนาจให้กับผู้ชนะเลือกตั้งอย่างเรียบร้อยสันติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ให้ได้ นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าชนชั้นนำเก่าใหม่ของพม่าจะส่งผ่านกันยังไง ไอ้ที่บอกว่าจะทำแบบเรียบร้อยนั้น…เรียบร้อยอองซานซูจี หรือเรียบร้อยคณะทหารกันแน่ เพราะแนวโน้มที่ผู้สังเกตการณ์เขาจับตาอยู่ออกมาในแนวคล้ายๆ กันก็คือ เครือข่ายผลประโยชน์ของทหารก็จะยังคงมีอำนาจนำอยู่เช่นเดิม เพียงแต่แบ่งพื้นที่อำนาจ

ซึ่งหากว่ารอบนี้รัฐบาลทหาร (จากการเลือกตั้งรอบก่อน) สามารถส่งมอบอำนาจให้กับพรรคเอ็นแอลดีผู้ชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จด้วยดีปราศจากความรุนแรงใดๆ นี่จะสามารถนับเป็นการสร้างสถิติใหม่ในรอบ 68 ปีเลยทีเดียว

ระยะเวลาหลังจากพรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะไปจนถึงราวต้นเดือนมีนาคม จึงถือเป็นห้วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่น่าสนใจมาก แม้ว่าจะปรากฏข่าว นาง อองซานซูจี ได้พบปะกับบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองพม่า อันประกอบด้วย ประธานาธิบดี เต็งเส่ง, ผ.บ.ทหารสูงสุด พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไปจนถึงผู้มากบารมีที่อยู่หลังฉากอย่าง พล.อ.อาวุโส ตันฉ่วย ในบรรยากาศชื่นมื่นด้วยดี ถึงกับมีการให้ข่าวผ่านสื่อพม่าว่าฝ่ายอำนาจเก่าให้คำมั่นว่าจะช่วยกันประคับประคองให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปด้วยความราบรื่นสันติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ให้ได้

จากข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ถึงนาทีนี้เปอร์เซ็นต์ในความสำเร็จราบรื่นมีสูงมาก เดือนมีนาคมนี้ชาวโลกจะได้เห็นรัฐบาลพม่าจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งค่อนข้างแน่  แต่อย่างไรก็ตาม…ก็ใช่ว่าจะไม่มีเปอร์เซ็นต์ให้กับความล้มเหลวเอาเสียเลย กองเชียร์อองซานอาจต้องเผื่อๆ ใจไว้สักห้าเปอร์เซ็นต์แปดเปอร์เซ็นต์ กันเหนียวไว้บ้าง

ประธานาธิบดี เต็งเส่ง มีภาพภายนอกที่ดูไม่เหมือนนายทหารสักเท่าใดนัก ภาพของเขาเรียบร้อยสุภาพเหมาะกับชุดพลเรือนมากกว่า แต่เต็งเส่งก็แสดงให้เห็นถึงความเฉียบขาด ไหลลึกและรอจังหวะขย้ำเหยื่ออย่างใจเย็นให้เห็นมาแล้วจากกรณีปลดอูสุระฉ่วยมาน คู่ปรับคนสำคัญออกจากตำแหน่งในพรรคก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาหยกๆ  เฉียบขนาดชนิดที่ขุมกำลังของฉ่วยมานไม่ทันขยับด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นฉ่วยมานเป็นฝ่ายรุกทางการเมือง ประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งรอบหน้า (คือที่เพิ่งผ่านไป) เขาเป็นประธานาธิบดี แล้วก็มีข่าวปล่อยออกมาว่าเต็งเส่งคงจะวางมือแล้วเพราะปัญหาสุขภาพ ในท่ามกลางกระแสรุกเร้าของฝ่ายฉ่วยมาน เต็งเส่งเงียบมาก แล้วเขาก็สวมวิญญาณนักฆ่าแห่งลุ่มอิระวดีลุกขึ้นมาจัดการปัญหาภายในราบคาบภายในคืนเดียว ดึงอำนาจการจัดการในพรรคมาเป็นของตัวแต่ผู้เดียว

การเมืองของชนชั้นนำพม่าคล้ายๆ ของไทยเรา คือถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ จะไม่เอากันถึงตาย เต็งเส่ง กับ ฉ่วยมาน โตมาพร้อมๆ กันเป็นสายตันฉ่วยเหมือนกัน จึงเล่นกับวงอำนาจกันพอหอมปากหอมคอ จี้กันแค่ถึงตัวให้รู้ว่าใครชนะก็หยุด แม้กระทั่งสลอร์คหรือ SPDC กลุ่มทหารที่ครองอำนาจมาคณะนี้กับนางอองซานซูจี เขาก็ไม่ทำกันถึงขั้นเอาให้ตาย แค่กักบริเวณ ไม่ให้เคลื่อนไหวในเชิงอำนาจแล้วก็ผ่อนปรนด้วยดี ก็เพราะซูจีเป็นเชื้อสายของวีรบุรุษผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า (Tatmadaw) เป็นชนชั้นสูง เชื้อสายนักปกครองด้วยกัน ไม่เหมือนกับพวกนักการเมืองหรือนักศึกษาปัญญาชนชั้นกลางล่างๆ ต่ำ ที่ทหารปราบจริงกดจริง ดังนั้นฉ่วยมานจึงพอมีพื้นที่เคลื่อนไหวของตัวอยู่พอสมควรและทำท่าว่าจะผงาดขึ้นอีกครั้งในยุครัฐบาลอองซานซูจี

แต่กรณีเคาท์เตอร์แอทแทคแบบเฉียบขาดฉับพลันที่เต็งเส่งกระทำต่อฉ่วยมาน ได้แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่น่ากลัวมาก ดูเงียบๆ ใจดี  เหมือนไม่มีพิษภัยแต่พร้อมจะเปลี่ยนกลับมาเป็นฝ่ายจัดการรุกกลับได้ตลอดเวลาหากว่าจำเป็นต่อการปกป้องรักษาอำนาจของเขาไว้

ส่วนฝ่ายทหาร นายพลอาวุโส มินอองหล่าย นี่ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกว่าการเจรจาต่อรองทางการเมืองใดๆ จะต้องให้พื้นที่กับความมั่นคง ปัญหาชนกลุ่มน้อย และหลักการของฝ่ายทหารที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้อย่างเคร่งครัด แปลว่า ต่อให้พรรคของอองซานซูจีชนะเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศได้แต่ทว่าต้องมีพื้นที่และอำนาจการจัดการสำคัญว่าด้วยความมั่นคงและอะไรก็ตามที่ทหารเห็นว่ามั่นคงให้กับฝ่ายทหารด้วย

อองซานซูจีและคณะพรรคเอ็นแอลดีของเธอจึงอยู่ภายใต้การเจรจาต่อรองเปลี่ยนผ่านอำนาจในลักษณะนี้  นั่นก็คือต่อให้ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย มีเสียงในสภามากมายอย่างเพียงพอขนาดไหน ยังไงก็ตามก็ต้องร่วมกับอำนาจเก่าและต้องอ่อนโอนตามยุทธศาสตร์แนวทางของอำนาจเก่า เพื่อร่วมกันบริหารประเทศต่อไป

ถ้าจะเกิดอุบัติเหตุทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจไม่เป็นไปโดยราบรื่น คงจะเป็นกรณีเดียวคือจู่ๆ อองซานซูจี และคณะพรรคเอ็นแอลดีของเธอปฏิเสธไม่เอาตามแบบที่ฝ่ายทหารอำนาจเก่าต้องการ ซึ่งความเป็นไปได้ดังกล่าวยังมีน้อย ถึงน้อยมาก

แผนการปฏิรูปประเทศที่ตันฉ่วยได้ส่งมอบและวางแนวทางไว้ตั้งแต่ปี 2011 เริ่มให้มีการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ให้ทหารออกมาสวมชุดพลเรือนและให้มีการเลือกตั้งปลอมๆ (เพราะพรรคสำคัญของซูจีไม่ลงรับเลือกในรอบนั้น) กำลังคืบหน้าไปด้วยดี มีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจเนื้อหาสาระของการเลือกตั้งและการเข้าสู่อำนาจ แต่ที่แท้แล้วสาระสำคัญของการปฏิรูปครั้งนี้ก็คือการเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เครือข่ายอำนาจของทหารยึดครองเอาไว้แทบทั้งหมด คณะทหารผู้ปกครองและชนชั้นนำพม่าในยุคนี้เริ่มโตมาภายใต้ระบอบฤาษีจำศีลของเนวิน เห็นความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม

ทุนใหญ่ และมหาเศรษฐีของพม่าที่โลดแล่นอยู่เวลานี้ล้วนแต่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับอำนาจผู้ปกครองฝ่ายทหาร และล่าสุดก็เริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองผู้ชนะ อย่างเช่น ปรากฏข่าวว่าตัวแทนผู้จะดำรงตำแหน่งสำคัญของพรรคเอ็นแอลดี ได้เริ่มเดินสายไปศึกษางานที่รัฐสภา ดูกระบวนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ฯลฯ เพื่อเตรียมรับตำแหน่ง งานนี้มหาเศรษฐีใหญ่ชื่อว่า เต ซะ (มาจากสันสกฤต เตช หรือ เตชะ) เจ้าของกิจการใหญ่มากมายรวมทั้งแอร์บากัน คนสนิทของ สุระ ฉ่วยมาน เป็นผู้ดูแลจัดการให้ทั้งหมดรวมถึงการนำเข้าที่พักโรงแรมห้าดาวในเครือของมหาเศรษฐีหนุ่ม

ในระหว่างสองสามเดือนของการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ยังปรากฏว่ารัฐบาลทหารได้เร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไปอีก เช่นการเปิดตลาดหลักทรัพย์ การออกใบอนุญาตนำเข้าสุราและไวน์ต่างประเทศ ให้บีโอไอทุนโรงแรมรีสอร์ต ทบทวนกฎหมายนำเข้ารถยนต์และมอเตอร์ไซด์ที่มีแต่ทุนทหารและเครือข่ายผูกขาดอยู่และเชื่อว่าจะมีประกาศอะไรออกมาให้ทุนใหญ่รายเดิมได้เปรียบมากขึ้นไปอีก

ผลประโยชน์ และระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องใหม่ในสังคมพม่าเท่านั้น หากยังเป็นอำนาจใหม่อีกด้วย ทหารและชนชั้นนำพม่าเรียนรู้ว่าโลกยุคใหม่ปืนไม่ใช่อำนาจ เงินต่างหากคืออำนาจที่แท้จริง การที่พม่ามีการเลือกตั้งและเปิดให้พรรคการเมืองผู้ชนะเข้ามา (ร่วม) บริหารประเทศกับกลุ่มอำนาจเดิมที่ถอยฉากออกไปอยู่ด้านข้าง มันเป็นอะไรที่มีแต่ได้กับได้ เพราะตะวันตกจะรีบปลดล็อกการบอยคอตต่างๆ อเมริกาประเทศให้จีเอสพีกับสินค้าพม่าไปแล้ว มีการลงทุนใหม่ที่มาพร้อมกับดอลลาร์สีเขียวๆ  

ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีแต่เครือข่ายอำนาจเก่า(ที่หลบเข้าไปอยู่แถวหลังหรือซ่อนตัวอยู่ในสายอำนาจใหม่ของพรรคการเมือง) เท่านั้นที่จะกอบโกยได้ก่อนใคร

นับจากปี 2490 ก่อนหน้าการประกาศเอกราชที่นายพลอองซานถูกสังหาร จนพม่าได้เอกราชมีการเมืองแบบใหม่ยังไม่เคยมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยสันติเลยแม้แต่ครั้งเดียว  แต่ครั้งนี้แหละที่พม่ามีแนวโน้มมากที่สุดที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงส่งมอบอำนาจให้กับกลุ่มการเมืองหน้าใหม่อย่างสันติได้สำเร็จ

แต่น่าจะเป็นความสันติที่ขุมข่ายผลประโยชน์ของขั้วอำนาจเก่ายินดีปรีดาอ้าแขนกอบโกยได้เต็มไม้เต็มมือที่สุดซึ่งก็เห็นๆ กันอยู่ว่าที่แท้แล้ว ใคร? กลุ่มใด? เป็นผู้ได้รับชัยชนะที่แท้จริงจากการเลือกตั้งของพม่า.