บูรพา-อาคเนย์ สิ้นแสงฉาน เรื่องจริงที่มองจากหอคอยงาช้าง : บัณรส บัวคลี่


ปีนี้ภาพยนตร์เรื่อง Twilight over Burma ที่คุ้นเคยกันจากหนังสือพากย์ไทยว่า สิ้นแสงฉาน น่าจะมาแรงไม่น้อย ขนาดยังไม่ลงโรงฉาย แค่เป็นข่าวว่ามีการมาถ่ายทำไทยในก็เกิดมีข่าวคราวพูดถึงมากมาย ไม่ใช่แค่สื่อในไทยเท่านั้นในพม่าก็มีการกล่าวขวัญถึงภาพยนตร์เรื่องนี้กันไม่น้อย อานิสงส์ของข่าวสารถึงกับทำให้สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ นวนิยายสิ้นแสงฉาน เพิ่มใหม่ปุบปับฉับพลัน นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 6 เข้าไปแล้ว จากที่เคยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2544 โน่น

 

ความแรงของสิ้นแสงฉานที่ว่ามาจากการสร้างภาพยนตร์และสื่อโซเชี่ยลมีเดียที่ไปไวกว่ายุคอื่นใดก่อนหน้า และที่สำคัญอาจเป็นเพราะว่าเรื่องราวของมันเป็นเรื่องจริงใกล้ตัวที่ผู้เกี่ยวข้องก็ยังมีชีวิตอยู่ ระบบเจ้าฟ้าผู้ปกครองของชาวไตรัฐฉานหรือรัฐบาลทหารพม่าและการปิดประเทศคนไทยก็รับรู้ คุ้นเคยอยู่ ยิ่งมีรายการสารคดีเดินทางนำเที่ยวไปยังเมืองสีป้อ ไปถ่ายทำคฤหาสน์ หอตะวันออก ที่อดีตเจ้าฟ้าผู้ครองนครเคยประทับ ได้เห็นภาพของสถานที่จริงที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูบัดนี้ถูกทอดทิ้งทรุดโทรมน่าใจหายยิ่งชวนให้ติดตามดูยิ่งขึ้นไปอีก

 

Twilight over Burma เวอร์ชั่นภาพยนตร์เกิดขึ้นมาได้ถูกจังหวะ – ถูกเวลา ถ่ายทำเสร็จในจังหวะที่พม่ามีการเลือกตั้งใหญ่ กำหนดฉายในปีที่รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งจะเข้ามาบริหาร คำถามน่าสนใจก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับอนุญาตให้เข้าฉายในประเทศพม่าได้หรือไม่ ?

 

คือถ้าเป็นยุคสลอร์คหรือยุคทหารจำแลงมันจะไม่ต้องมีปุจฉาวิสัชนาอะไรทั้งนั้น  เพราะหนังที่เชิดชูชนกลุ่มน้อยทำให้ทหารพม่าเป็นผู้ร้ายแบบนี้ อย่างไรเสียไม่มีทางที่จะผ่านเซ็นเซอร์หรอก แต่นี่พม่าประกาศว่าปฏิรูปทางการเมืองมีการเลือกตั้งมีประชาธิปไตยแล้ว มันก็สมควรจะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายโดยไม่มีเงื่อนไขข้อแม้อยู่แล้ว..ใช่ไหม?

 

แต่ก็นั่นแหละครับ อุดมการณ์ ความฝัน อะไรที่สวยๆ กับโลกแห่งความเป็นจริงอาจจะไม่สอดคล้องต้องกันนัก ….เพราะว่ารัฐบาลใหม่ของพม่านั้น แม้ว่าจะมาพรรคเอ็นแอลดี อองซานซูจีที่ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายมายังไงก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามแนวทางของตนเองได้  ยังต้องเจรจาประนีประนอม ปรองดองแห่งชาติกับขั้วอำนาจเก่า กองทัพจองเก้าอี้บริหารราชการด้านความมั่นคงภายในและการทหารไว้แล้ว นี่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเลย ดังนั้นหากว่าฝ่ายความมั่นคงภายในพิจารณาเห็นว่าเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะสมมันก็ยังมีโอกาสที่เป็นไปได้เช่นกัน

 

ถ้ายังจำได้ระหว่างที่มีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เกิดการปะทะกันของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่เหนือในหลายเมือง ทำให้รัฐบาลพม่าต้องระงับการเลือกตั้งบางเขตในรัฐฉาน สถานการณ์ของการเมืองภายในระหว่างชาวพม่ากับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มยังไม่ดีนัก หากว่าทหารเห็นว่า Twilight over Burma จะไปปลุกให้เกิดกระแสแยกประเทศในรัฐฉาน ฟื้นเรื่องราวเก่าแก่สมัยสนธิสัญญาปางโหลง หรือทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลในรัฐฉานที่ยังเคลื่อนไหวอยู่เกิดมีแรงขึ้นมาอีก – ซูจีก็ซูจีเหอะ อยากรู้เหมือนกันว่าอองซานซูจีจะทำยังไงต่อ นี่เป็นประเด็นที่น่าจับตาอยู่พอสมควร

 

การได้รับอนุญาตฉายหรือไม่ฉายในพม่าอาจจะบ่งบอกและสะท้อนพัฒนาการทางการเมืองของพม่าหลังการเลือกตั้ง ให้โลกภายนอกรับรู้ได้ชัดเจนกว่าคำแถลงเคลือบน้ำตาลทางการเมืองด้วยซ้ำไป 

 

แรงสั่นสะเทือนของ Twilight over Burma ต่อคนพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ มันก็เรื่องหนึ่ง… ต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

 

ในหลายปีมานี้สังคมไทยเราเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคมากขึ้น แม้จะยังมีไม่น้อยที่ยังยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์บาดแผล นิยามพม่าเป็นชนชาติศัตรูอันดับหนึ่งอยู่ไม่วาย (ก็ตามเหอะ) แต่เท่าที่สังเกตส่วนตัว เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วได้เปลี่ยนแปลงสายตาการมองเพื่อนบ้านไปมาก..มากกว่าคนรุ่นก่อน และยิ่งในวาระที่ประเทศอาเซียนรวมตัวกันเป็นประชาคมเดียวเช่นนี้ การได้เรียนรู้ รับทราบเรื่องราว ความเป็นมาเป็นไปของเพื่อนบ้านยิ่งเป็นเรื่องค่อนข้างจำเป็นของการได้รู้เขารู้เราในยุคที่รั้วพรมแดนลดความสูงลงมาให้คนก้าวข้ามไปมาราวกับพื้นที่บ้านตัวเองเช่นนี้

 

Twilight over Burma: สิ้นแสงฉาน เป็นวรรณกรรม/เป็นเรื่องราว และเป็นภาพยนตร์ที่มาจากเรื่องจริง ฐานะของมันจึงไม่ใช่แค่วรรณกรรม หรือแค่ภาพยนตร์ดูสนุกเท่านั้น หากมันยังเป็นเครื่องมือเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงพร้อมกันไปด้วย

 

อิงเง่ ซาร์เจ้น  Inge Sargent สาวชาวออสเตรีย นักเรียนทุนฟุลไบรท์ผู้ข้ามแอตแลนติกไปร่ำเรียนที่เมืองเดนเวอร์ โคโรลาโด แล้วพบรักกับนักศึกษาวิศวกรรมร่วมเมือง เจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าผู้ครองนครรัฐสีป้อ จนแต่งงานกัน จากนั้น อิงเง่ ซาร์เจ้นก็ได้รับสถาปนาเป็น เจ้านางสุจันที (สิ้นแสงฉาน ใช้ชื่อ สุจันทรี) ผู้เป็นเอกมเหสีของเจ้าฟ้าหลวงผู้ครองนครสีป้อ แห่งรัฐฉาน ในยุคที่พม่าได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน  เจ้านางมหาเทวีจากทวีปยุโรปผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้ชีวิตราวกับเทพนิยายในดินแดนแห่งเทือกเขาอยู่ได้แค่ราว 10 ปี ชีวิตของเธอก็พลิกผันอีกครั้งเมื่อนายพลเนวิน ได้รัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีอูนุ จับตัวเจ้าจ่าแสง สามีของเธอไว้เช่นเดียวกับเจ้าฟ้าหลวงผู้นำของรัฐฉานที่มีบทบาทคนอื่นๆ แล้วก็เปลี่ยนพม่ากลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบทหารยาวนาน จนที่สุดเธอต้องหอบลูกอพยพลี้ภัยออกมา…ฯลฯ

เรื่องราวดังกล่าว อิงเง่ ซาร์เจ้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ Twilight over Burma: My life as a Shan Princess (Kolowalu Books) ตีพิมพ์เมื่อปี 1944 (2537) โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาวาย ซึ่งตอนนั้นก็เป็นแค่หนังสือในแวดวงคนสนใจประวัติศาสตร์พม่ากลุ่มที่ไม่ใหญ่มาก ในรัฐฉานก็มีการแปลเป็นภาษาไตต่อมามีให้ดาวน์โหลดสำหรับคนที่สนใจ สำหรับพากย์ไทย มนันยา ได้แปลออกมาในชื่อ สิ้นแสงฉาน ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อปี 2544

 

สิ่งที่ผู้อ่านควรรู้ก่อนจะอ่านหนังสือเรื่องนี้ ก็คือ… มันมีความแตกต่างกันอยู่สองสามประเด็นระหว่างหนังสือต้นฉบับ กับ ฉบับพากย์ไทย โดยต้นฉบับเขาระบุประเภทของหนังสือว่าจัดอยู่ในกลุ่ม ชีวประวัติ หรือ biography ขณะที่ฉบับพากย์ไทย ระบุไว้ในข้อมูลทางบรรณานุกรมว่า นวนิยายแปล

 

มันมีความแตกต่างกันอยู่ทีเดียว ระหว่างหนังสือ ชีวประวัติ กับ นวนิยายแปล !

 

เพราะนวนิยายนั้นเน้นไปที่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แม้จะเป็นนวนิยายที่อิงมาจากเรื่องจริงก็ตาม และมันควรจะจำแนกให้ต่างออกไปจาก ชีวประวัติที่เขียนในท่วงทำนองนวนิยาย ซึ่งต่อให้ใส่ลูกเล่นถ้อยคำพรรณนาอย่างไรก็ต้องไม่ทิ้งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง

 

หรือว่า…ด้วยเหตุที่อยากให้สิ้นแสงฉานมีน้ำหนักไปทางนวนิยายกระมัง?  สิ้นแสงฉาน เวอร์ชั่นมติชนจึงได้ตัดเนื้อหาส่วนสำคัญก็คือ บทนำ หรือ Foreword ส่วนที่เขียนโดย เบอร์ทิล ลินเนอร์ Bertil Lintner นักเขียน/นักข่าวชื่อดังผู้ได้รับยกย่องว่ารู้เรื่องพม่าดีที่สุดคนหนึ่งออกไปเสีย – ซึ่งมันน่าเสียดายมากสำหรับคนที่ซื้ออ่านเพราะสนใจพม่า

 

บทนำที่เขียนโดยเบอร์ทิล ลินเนอร์ ปูพื้นฐานให้ภาพรวมของประวัติศาสตร์พม่า/ฉานสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้มาก่อนได้ดีมาก ถ้าจะเข้าใจสิ้นแสงฉานในฐานะประวัติศาสตร์จริงควรอ่านบทนำชิ้นนี้ก่อน มันกะทัดรัดสรุปความเป็นไป-เป็นมาได้ดี ทั้งยังเหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่เรียนทางด้านอาเซียนศึกษาด้วยซ้ำไป

 

นอกจากนั้นบทนำส่วนนี้ยังได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากที่หนังสือไม่ได้เขียนเอาไว้ นั่นก็คือ เมื่อปี 1966 (2509- หลังเนวินทำรัฐประหาร 4 ปี) อิงเง่ ซาร์เจ้น พร้อมลูกสาวทั้งสองของเธอเคยบุกไปถึงโรงแรมที่พักของนายพลเนวิน เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปรักษาตัวที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย บทความบอกว่าเธอทันเห็นเนวินอยู่ชั้นบนของอาคารแต่เนวินรีบหลบหน้าเธอ เข้าห้องพักไป จากนั้นคนในคณะของท่านผู้นำสูงสุดก็กันเธอไม่ให้พบบุคคลผู้ที่พรากสามีไปจากเธอและลูก ซึ่งก็น่าเสียดายที่พากย์ไทยไม่ได้ใส่เรื่องราวส่วนนี้ไว้ เพราะแค่ฉากชีวิตจริงเรื่องนี้เรื่องเดียวมันสะท้อนและบ่งบอกอะไรต่อมิอะไรได้เยอะ น่าสนใจทีเดียวสำหรับผู้สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์จริง/ ชีวประวัติจริง

 

ผมคิดว่าผู้แปลคือ มนันยา ทราบดีว่างานชิ้นนี้เป็นหนังสือชีวประวัติที่ใช้กลวิธีแบบนวนิยาย มนันยา ได้กล่าวไว้ใน คำนำผู้แปล ไว้ว่า “สิ้นแสงฉาน นี้เป็นประวัติชีวิตจริงของเจ้าฟ้าหลวงแห่งแคว้นสีป้อในรัฐฉานของพม่า” ขณะที่คำนำของสำนักพิมพ์มติชน กลับระบุว่า สิ้นแสงฉานเป็นนวนิยาย…ที่เขียนได้อย่างสมจริง และการเขียนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นราวกับนวนิยาย

หากผู้อ่านไม่ติดใจว่ามันจะเป็นชีวประวัติก็ดี หรือนวนิยายก็ได้ …อ่านไปแค่เอาเพลินก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร ยกเว้นเสียแต่หากว่าอ่านเพื่อเอาสนุกด้วยและสนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชีวิตจริงที่เคยเกิดขึ้นในประเทศพม่าแล้วไซร้ สิ่งที่ผู้อ่านควรระมัดระวังมีอยู่สองประเด็นก็คือ รายละเอียดของชื่อคน กับ การพึงเตือนตนเองอยู่เสมอว่างานชิ้นนี้เป็นมุมมองของชาวตะวันตกที่เพิ่งเข้าไปอยู่ในรัฐฉานแถมยังอยู่ในหอคำของเจ้าฟ้าผู้ปกครอง สิ่งที่อิงเง่ ซาร์เจ้น มหาเทวีเธอได้รับรู้แล้วถ่ายทอดออกมานั้น เปรียบเทียบโดยสำนวนว่าเป็นสายตามองออกมาจากหอคอยงาช้างก็ไม่ผิดนัก ดังนั้นสิ่งที่นำเสนอออกมาในหนังสือ(และในภาพยนตร์) จึงจำกัดวงจากเท่าที่เธอรับรู้ ซึ่งแน่นอนว่าข้อจำกัดดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนสังคมการเมืองความยุ่งยากซับซ้อนในรัฐฉานระหว่างพ.ศ.นั้นออกมาได้เต็มที่ ทั้งในภาพรวมและภาพลึก

 

มีตัวละครหนึ่งที่ถูกกล่าวหลายครั้ง คือเจ้าฟ้ารัฐฉานผู้หนึ่งชื่อว่า เจ้าหอมป่า  อาจจะบอกว่าเจ้าหอมป่าเป็นตัวร้ายในนวนิยายสิ้นแสงฉานได้…บทบาทแรกของเจ้าหอมป่าก็คือได้ส่งคนมาติดต่อขอให้เจ้าจ่าแสง อนุญาตให้จัดงานปอยขึ้นที่สีป้อ ซึ่งจะมีการเล่นพนันเพื่อให้ทหารพม่าได้เก็บรายได้ แต่เจ้าจ่าแสงไม่อนุญาต (ทั้งๆที่ในยุคสมัยนั้นชาวไตรัฐฉานจัดงานปอยและเล่นพนันกันเป็นปกติ) บทบาทต่อมาของเจ้าหอมป่าที่อิงเง่นำมาเล่าก็คือ มีครั้งหนึ่งที่เจ้าจ่าแสงจะเดินทางโดยเครื่องบินจากเมืองลาเสี้ยวไปยังย่างกุ้ง แต่ถูกเจ้าหอมป่าสกัดไว้ เพราะในไฟลท์บินนั้นมีผู้บัญชาการทหารพม่าภาคเหนือที่ไม่ชอบหน้าเจ้าจ่าแสงเท่าใดนักจะเดินทางด้วย บทบาทของเจ้าหอมป่าในสายตานักเรียนนอกอย่างเจ้าจ่าแสง กับชาวยุโรปอย่างอิงเง่ มหาเทวี อาจจะดูประหลาด เข้าข้างพม่า ไม่มีหลักเกณฑ์ ฯลฯ แต่นั่นก็เป็นสายตามุมเดียว / และที่สำคัญก็คือ เรื่องนี้มันมีปมให้พิจารณาเยอะมาก

 

เรื่องแรกที่ผู้อ่านที่ต้องการอรรถรสรายละเอียดของชีวประวัติ/ประวัติศาสตร์ก็คือ…

 

ในบรรดาเจ้าฟ้าผู้ครองรัฐฉานทั้ง 34 หัวเมือง ไม่เคยมีผู้มีนามว่า เจ้าหอมป่า อยู่ในยุคสมัยนั้น !!!

อิงเง่ คงไม่ได้ยกเมฆแต่งเรื่องราวขึ้นเอง…อาจคงเป็นเพราะอิงเง่ต้องการเลี่ยงที่จะเขียนถึงชื่อจริง หรือเป็นไปได้ที่ผู้แปลอาจจะแปลผิดหรืออย่างไร?  เทียบดูชื่อที่เป็นไปได้ทั้งหมด เจ้าหอมป่า ควรจะเป็นคนเดียวกับ เจ้าห่มฟ้า –  Sao Hom Pha? ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง ในฐานะเจ้าฟ้าผู้ครองนครแสนหวี และมีบทบาทนำอยู่พอสมควรในบรรดาเจ้าฟ้าผู้ปกครองรัฐฉาน

 

เจ้าจ่าแสง กับเจ้านางอิงเง่ สุจันทรี ประสบเจออาจจะเป็นการติดต่อ/ห้ามปรามโดยเจ้าห่มฟ้าคนนี้จึงได้บันทึกไว้เป็นฉากเหตุการณ์สำคัญ แต่หากจะพลิกมามองอีกมุมหนึ่งมองด้วยสายตาของชาวไตรัฐฉาน และด้วยมุมมองทางการเมืองเป็นหลัก วิธีการแสดงออกของเจ้าห่มฟ้าแบบนี้กลับสอดคล้อง/เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าเสียอีก

 

เจ้าห่มฟ้าเป็นบุคคลสำคัญที่ขบวนการกู้ชาติไทยใหญ่ รายงานฝ่ายหนุ่มศึกหาญกล่าวถึงเจ้าฟ้าคนนี้ว่ามีบทบาทในการช่วยเหลือขบวนการอยู่ไม่น้อย เป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐฉานที่เข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง (ในขณะที่เจ้าจ่าแสงยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่) ความเป็นจริงของเจ้าฟ้าผู้ครองเมืองและชนชั้นนำของรัฐฉานในพ.ศ.นั้นย่อมสำเหนียกถึงการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงระหว่างอำนาจรัฐพม่า กับ ชาวไตรัฐฉานที่คุกรุ่นมาตั้งแต่พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบเงื่อนไขพม่าจะปล่อยให้รัฐฉานและรัฐอื่นๆ แยกจากสหพันธรัฐไปเป็นเอกราชปกครองตนเองแล้ว แต่พม่าไม่ยอม มันจึงเกิดขบวนการต่อสู้แยกเอกราชรัฐฉานขึ้นมา และที่สำคัญรัฐฉานนับจากสิ้นสงครามโลกเป็นต้นมาก็เต็มไปด้วยไฟสงครามแล้วเพราะกองพล 93 จีนฮ่อก๊กมินตั๋งแตกลงมา พม่าต้องส่งทหารไปยันไว้ ประวัติศาสตร์ของพวกกู้ชาติไทยใหญ่ก็มีที่ไปสู้กับจีนฮ่อก๊กมินตั๋งด้วย

 

เจ้าฟ้า/นักการเมืองและชนชั้นนำของรัฐฉานแทบทั้งหมดรับรู้เรื่องราวความขัดแย้งนั้น มันจึงมีคนที่เล่นบทบาทเป็นทางหนึ่งดูประนีประนอมยังแตะมือเจรจากับพม่าอีกทางหนึ่งก็เคลื่อนไหวเพื่อปกครองตนเองไป  แต่เจ้าจ่าแสงกลับไม่ได้อยู่ร่วมในขบวนที่ว่า เจ้าจ่าแสง ถูกอังกฤษเลือกขึ้นมา (ในนามของการเลือกจากชาวสีป้อ) ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าหลวงเมื่อหลังสงครามโลกเสร็จสิ้น แล้วก็เดินทางไปศึกษาต่อ ชีวิตก่อนหน้าของเจ้าจ่าแสงก็คือการไปเรียนหนังสือที่อื่น ไม่ได้ใกล้ชิดติดกับมวลชน ไม่ได้เคลื่อนไหวในขบวนการปางหลวงหรือการเมืองใดๆ ก่อนหน้า

 

 

ดังนั้นโลกทัศน์และวิธีคิดทางการเมืองของเจ้าจ่าแสง จึงออกจะโลกสวย แตกต่างออกไปจากเจ้าฟ้าคนอื่น ซึ่งก็รวมถึง เจ้าหอมป่า (เจ้าห่มฟ้า?) ที่ถูกเอ่ยถึงในหนังสือด้วย

 

นักการเมืองในท่ามกลางคมเขี้ยวเล็บ ย่อมมีวิถีปฏิบัติแตกต่างจาก นักอุดมคติที่กอดยึดหลักการอยู่วันยังค่ำ!

 

ในฐานะชีวประวัติที่พาดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัฐฉานและการเมืองพม่า สิ้นแสงฉาน จึงเป็นบันทึกข้อเท็จจริงเรื่องราวที่มาจากมุมมองมุมหนึ่งเท่านั้น! เป็นความจริงจากชนชั้นผู้ปกครองที่ห่างไกลบ้านเกิดไปนาน มีทัศนคติโลกทัศน์ที่ต่างไปจากชนท้องถิ่นอยู่พอสมควร

 

ซึ่งหากผู้สนใจต้องการภาพที่ชัดเจนขึ้นของพม่าหรือรัฐฉานในทศวรรษก่อนเนวินจะทำรัฐประหาร จำเป็นต้องอาศัยมุมมองอื่นๆ มาประกอบเข้าไปด้วย ถึงจะให้ภาพสถานการณ์รวมของการเมืองระหว่างพม่ากับบรรดาเจ้าฟ้ารัฐฉานในห้วงเวลานั้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ้นแสงฉาน จัดเป็นหนังสือที่ดีที่ไม่ควรพลาดอีกเล่มหนึ่ง ไม่ใช่แค่หนังสือเท่านั้น ดูจากตัวอย่างโปสเตอร์เวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาก็สมควรจะตีตั๋วไปชม แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ถ้าได้อ่านบทนำของเบอร์ทิล ลินเนอร์เหมือนที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขามีไว้ ท่านจะได้เสพความเป็น Twilight over Burma ได้สมบูรณ์ครบอรรถรสยิ่งขึ้น.