“ความอดทนของคนเรามีขีดจำกัด”
แม้ว่าพวกเราจะเคยได้ยินคำกล่าวนี้อยู่บ่อย ๆ แต่ก็เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า ผู้นำที่มีภาวะผู้นำนั้นจะต้องมีความอดทนอดกลั้นสูงกว่าคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป หรืออาจจะต้องมีมากกว่าด้วย ซ้ำไป ความอดทนอดกลั้นนั้นถึงแม้คนเรียนจบปริญญาเอกมาก็ใช่ว่าจะทำได้ ถ้าหากไม่ได้มีการฝึกจิตหรือมีความเข้าใจในการดำเนินชีวิตหรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจจะไม่ได้อย่างที่ใจเราคิดเสมอไป คนไม่ได้จบปริญญาสูง ๆ แต่ถ้าได้มีการฝึกจิตและรับรู้ถึงธรรมชาติของการทำงานร่วมกับคนอื่นอาจจะมีความอดทนอดกลั้นได้ดีกว่าผู้บังคับบัญชาของตนก็เป็นไปได้ ดังนั้นหากเราจะศึกษาถึงเรื่องความอดทนอดกลั้นที่จะต้องทำให้บังเกิดในจิตใจเพื่อเป็นการแสดงออกถึงภาวะผู้นำแล้ว เราจึงควรใส่ใจในประเด็นต่อไปนี้คือ
ประการแรก “ความอดทนอดกลั้น” (Endurance) คือภาวะของอารมณ์ซึ่งไม่ได้ในสิ่งที่พึงประสงค์หรือความต้องการที่ตั้งใจไว้ ผู้นำบางคนมักจะหัวเสีย เกรี้ยวกราด บางคนแสดงออกถึงอำนาจบาตรใหญ่เพราะคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือใคร ๆ จะเนรมิตอะไรต้องได้ตามความประสงค์ บางคนถึงขึ้นใช้ความรุนแรงกับลูกน้องด้วยการตบตี ประณาม หรือด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง ทั้ง ๆ ที่โดยปกตินิสัยส่วนตัวก็เรียบร้อย มีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่พอขาดความอดทนอดกลั้นขึ้นมาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ กลายเป็นผู้นำที่ลูกน้องไม่กล้าเข้าใกล้ โดยเฉพาะยามหน้าสิ่วหน้าขวาน หรือบางครั้งลูกน้องจะเข้าหาต้องมีการเช็คอารมณ์กันก่อน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้โดยเฉพาะในทัศนคติของลูกน้องหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
ประการที่สอง “มีความคิดเชิงบวก” (Positive Thinking) การทำงานทุกอย่างย่อมเกิดปัญหาขึ้นได้เสมอ การคิดเชิงบวกจึงมิได้หมายความว่าคิดแบบทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่การคิดเชิงบวกหมายถึงว่าแม้จะมีปัญหาเราควรจะมีวิธีคิดอย่างไรให้ปัญหานั้นเบาบางลงไปโดยมีมุมมองที่แยบยล และทำให้เกิดผลดีต่อการคิดและการตัดสินใจในทางที่ดีมากที่สุด หรือในทางที่เป็นไปได้มากที่สุด เช่น “ผมเคยถามลูกศิษย์ว่าเรียนจบโรงเรียนอะไรมา? นักศึกษาผู้นั้นตอบว่า “โรงเรียนที่อยุธยาครับ” ผมแกล้งตอบไปว่า “โธ่เอ๋ย! เจ้าเด็กบ้านนอก” ผมนึกว่าเขาจะโกรธที่ผมพูดเช่นนั้น แต่เนื่องจากเขาเป็นคนคิดเชิงบวกเขาจึงตอบผมว่า “อาจารย์ครับผมอยากจะเรียนอาจารย์ว่า หากกรุงศรีอยุธยาไม่แตกซะคราวนั้น บ้านผมน่ะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยเชียวนะครับ” เห็นมั๊ยครับว่าเราจะไปห้ามปากหรือห้ามความคิดใคร ๆ ไม่ได้ แต่เราสามารถห้ามความคิดและการกระทำของตัวเราเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเป็นคนคิดเชิงบวกพฤติกรรมไม่ว่ากายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม ของเราก็จะเป็นไปในทางสร้างสรรค์ อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงานเป็นทีมได้ดียิ่งขึ้น ผู้นำจึงมิใช่แค่เดินนำแต่ต้องมีความคิดที่จะนำคนไปสู่เป้าหมายอย่างองอาจ ผึ่งผายด้วยคุณธรรมข้อนี้ด้วย
ประการที่สาม “การให้อภัย” (Forgiveness) เป็นคุณธรรมที่พึงมีในผู้ที่มีภาวะผู้นำเป็นอย่างยิ่งเพราะคนที่โกรธง่าย เจ้าคิดเจ้าแค้นชีวิตย่อมไม่มีความสุข หน้าตาก็จะไม่สดชื่น มีแต่ความหม่นหมอง อาฆาตพยาบาท ในฐานะที่เป็นผู้นำนั้นย่อมมีผู้ที่เกี่ยวข้องมาจากหลากหลายประเภท ทั้งแตกต่างในเรื่องของการศึกษา สภาพครอบครัว สติปัญญา ความสามารถในการรับรู้และเรื่องของกาลเทศะ ดังนั้นหากผู้นำเข้าใจในความแตกต่างเหล่านี้และพิจารณาให้เข้าถึงจิตใจหรือพฤติกรรมของคนแล้วก็จะสามารถให้อภัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ อันจะเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่จะทำให้รู้จักใช้คนในโอกาสต่อ ๆ ไปด้วย บางครั้งการให้อภัยจากผู้นำนั้นจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความ “เกรงใจ” มากกว่าการใช้การลงโทษหรือใช้อำนาจเต็มรูปแบบก็ได้เพราะการทำให้คน “กลัว” นั้นต่อหน้าเขาอาจจะทำเป็นแสดงออกซึ่งอาการ “กลัว” แต่การทำให้คน “เกรง” นั้นแม้จะอยู่ลับหลังเขาก็ยังมีความรู้สึกที่จะทำในสิ่งที่ดีงามเพราะไม่อยากให้หัวหน้าหรือผู้นำต้องขุ่นข้องหมองใจหรือหงุดหงิดเพราะการกระทำของเขา
ท่านผู้อ่านครับ! วันนี้ผมเลือกที่จะเขียนเรื่องผู้นำกับความอดทนเพราะผมเห็นว่าสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจและสังคมทุกวันนี้ มักจะทำให้หลายท่านหงุดหงิดง่ายขึ้น โกรธง่ายขึ้น ไม่พอใจได้ง่ายขึ้น ถ้าท่านเป็นคนปกติธรรมดาก็ไม่เป็นผลดีอยู่แล้ว ยิ่งหากท่านเป็นผู้นำ พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นผู้คนสามารถเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง ๆ ด้วยเหตุที่สื่อในปัจจุบันรวดเร็วและแสดงให้สังคมได้ประจักษ์ง่ายมากและลบเลื่อนไปจากความทรงจำลำบากโดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ดีไม่งามมักจะเผยแพร่ได้รวดเร็ว ผมจึงอยากจะเห็นภาพที่ผู้นำโดยเฉพาะที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างที่ดีในสังคมไทย เพราะผมมีความเชื่อเป็นส่วนตัวว่าความอดทนอดกลั้นของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอาจทำให้ “ความปรองดอง” ที่สังคมไทยพร่ำเพรียกเรียกหาเกิดเร็วขึ้นก็ได้นะครับ