“ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”
คำกล่าวข้างต้นนี้น่าจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์และเป็นความจริงที่จะนำไปใช้บรรยายหรืออบรมกุลบุตร กุลธิดา เยาวชนของชาติได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่ระยะหลัง ๆ นี้ความศรัทธาต่อคำสอนดังกล่าวกลับลดลงไปมากเพราะมีผู้พยายามแสดงให้สังคมได้เห็นว่า “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” น่าจะเป็นการกระทำที่ได้รับการยอมรับมากกว่า และดูว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดกว่าคนอื่น ๆ ซะด้วยซ้ำไป ซึ่งความจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดปัจจุบันนี้จึงได้เพ็งเล็งและให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวดมาก ๆ โดยให้มีบทลงโทษที่รุนแรงและมีรายละเอียดแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ มากมาย จนมี ผู้พูดจาประชดประชันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “คนดี” และก็ด้วยเหตุที่มีการทุจริตกันมากมายจนบ้านเมืองทำท่าจะไปไม่รอดแล้วนั่นเอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้เข้ามาทำรัฐประหารและบริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบันนี้
เผอิญวันนี้ผมได้มีโอกาสมาร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการสตรี ในคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ จึงมีโอกาสได้รับทราบว่าปัจจุบัน “ผู้หญิง” ในประเทศไทยมีมากกว่า 33 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของประชากรทั้งหมดซึ่งเป็นเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรรวมของประเทศ และจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงเมื่อการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2554 มีมากถึง 26 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด จึงนับว่า “ผู้หญิง” เป็นกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศและสามารถที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างมากมายมหาศาล ที่สำคัญก็คือมีการกล่าวขานกันว่าถ้าให้ผู้หญิงได้ทำงานและเป็นผู้นำจะมีข้อดีกว่าผู้ชายในเรื่องของ “ความซื่อสัตย์สุจริต” ซึ่งในที่ประชุมนั้นส่วนใหญ่ทำท่าจะเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย โดยให้เหตุผลว่าผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนในเรื่องการทำงานและการเงิน รับปากว่าจะทำอะไรแล้วมักจะทำจริงจังมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจจะมีผู้ที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีใครลุกขึ้นมาคัดค้านอย่างจริงจังสักรายเดียวหรือเกรงว่าจะเถียงไม่ทันก็ไม่ทราบนะครับ แต่ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมานั้นมีความน่าสนใจอยู่ที่ว่าในการประชุมนั้นมีการพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2547 ในประเด็นที่ว่าปรัชญาของการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนนั้นต้องการจะให้ใครเป็นผู้ที่จะได้รับสิทธิในการกู้มากกว่ากันระหว่างผู้ที่กู้แล้วมีแนวโน้มที่สามารถจะนำเงินมาใช้คืนกองทุนตามกำหนดเวลาได้กับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนแต่โอกาสที่จะใช้คืนกลับสู่กองทุนนั้นน้อยเหลือเกิน จึงต้องมีการวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้ให้ดีเพื่อให้การดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปตามความประสงค์และประชาชาชนผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
พอผมฟังมาถึงประเด็นเหล่านี้จึงอยากหยิบยกเอาเรื่องของความ “ซื่อสัตย์สุจริต” มาปรารภให้ฟังหน่อยว่าเพราะสังคมไทยเราทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์กันในหลายวงการ จึงทำให้การจะทำอะไร ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องทำกันด้วยความหวาดระแวงเพราะมีบทเรียนมาให้เห็นมากมายแล้วในอดีต ซึ่งความจริงแล้วเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตนั้นก็เป็นหลักคุณธรรม จริยธรรมเบื้องต้นที่วิญญูชนน่าจะรับทราบและประพฤติปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่เพราะกิเลส ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นจึงทำให้หลายคนไม่ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ ผู้นำในแต่ละหน่วยงานแต่ละองค์กรจึงต้องให้ความสำคัญและไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำตัวเป็นตัวอย่างกับลูกน้องหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาสำคัญของการสร้างศรัทธาและความน่าเชื่อถือก็คือ หากผู้นำจำเป็นต้องใช้ “ดุลยพินิจ” ก็ควรจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ได้เพราะอะไร?” หรือ “ไม่ได้เพราะอะไร?” หากอธิบายถึงที่มาที่ไปและเหตุผลได้โดยมีมาตรฐานเป็นที่แน่ชัด ความศรัทธาจึงจะเกิดขึ้น และหากผู้นำในองค์กรได้รับความศรัทธาแล้วการจะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายก็จะง่ายขึ้น ไม่ต้องมัวหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะบางครั้งความหวาดระแวงนั้นอาจทำให้องค์กรไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างกระฉับกระเฉงหรืออาจถึงขั้นที่เรียกกันว่า “ใส่เกียร์ว่าง” เลยก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเวลาและโอกาสเพราะมีผู้กล่าวว่า “โอกาสนั้นเปรียบเสมือนไอศครีม ถ้ามีผู้หยิบยื่นให้แล้วไม่กิน…มันก็ละลาย”
โอกาสของ “ผู้นำ” ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ นะครับ.