การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 : รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์


ในการประชุม World Economic Forum ระหว่างวันที่ 20 – 23 มกราคม ที่เมือง Davos ที่ผ่านมา หัวข้อใหญ่ของการประชุมคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในการประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คนประกอบด้วยผู้นำประเทศต่าง ๆ นักการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน นักธุรกิจ นักวิชาการ NGO สื่อมวลชน และอื่น ๆ ในการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญเพราะเป็นการมองภาพของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษยชาติ มีผลกระทบทั้งในระดับการเมือง ธุรกิจ ส่วนตัว หรือพูดง่าย ๆ เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของมวลมนุษย์ในอนาคต

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1784 โดยมีต้นกำเนิดจกการพัฒนาไอน้ำซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำและการพัฒนาการขนส่งทั้งทางเรือและทางบก การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 1870 ซึ่งนำไปสู่การใช้ไฟฟ้า การแบ่งงาน (Division of labor) และการผลิตแบบมวลชน (Mass Production) ส่งผลให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานแบบเพิ่มการผลิตและบริหารแบบแนวตั้ง (vertical) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ปี 1969 อันเป็นผลจากอิเลคโทรนิค IT และการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automatic Production)

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 นี้ถือว่ามีความสำคัญมากเมื่อเทียบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 และ 2 กล่าวคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 และ 2 ยังเป็นการพัฒนาสิ่งที่จับต้องได้ (Atom) นำไปสู่การบริหารที่เน้นประสิทธิภาพเชิงเนื้อที่ แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการเชื่อมโยงที่จับต้องไม่ได้โดยผ่าน IT และนำไปสู่โลกของโลกาภิวัตน์ และกำเนิดโลกไร้พรมแดนหรือที่ Thomas Friedman เรียกว่า โลกแบน (Flat world)

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกทั้งระดับมหภาคและจุลภาค เป็นการบริหารที่ถูกกดดันจากปัจจัยของความเร็ว (Speed) ความกว้าง และความลึก การบริหารที่เน้นประสิทธิภาพบนพื้นฐาน economy of scale จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ก็ได้เพิ่มมิติใหม่คือ economy of speed และ economy of scope ซึ่งหมายถึงการบริหารความจุ ถ้าอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมคือ ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ซึ่งเน้นการบริหารเนื้อที่ สมัยนั้นร้านหนังสือดวงกมลมี 3 ห้อง มีเนื้อที่รองรับหนังสือ 60,000 เล่ม แต่ในวันนี้ ด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ก็กำเนิด Amezon.com ซึ่งชื้อเนื้อที่น้อยมากแต่บรรจุหนังสือได้เป็นล้านเล่ม ผลดีคือร้านหนังสือแบบเก่าต้องหายไป อันเกิดจากนวัตกรรมที่ทำให้ของเก่าหายไปที่เรียกว่า Disruptive Innovation ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ดิจิตอลทำให้เกิดจุดจบของฟิล์ม ทำให้สิ่งพิมพ์ต้องกลายพันธุ์ส่งผลให้หนังสือ Dictionary และ Encyclopedia ในรูปสิ่งพิมพ์ลดลงและหายไป

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คือจุดเริ่มต้นของโลกกาภิวัตน์ เริ่มต้นด้วยโลกาภิวัตน์ข้อมูลที่เผยแพร่ไปทั่วโลกส่งผลให้คอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี 1989 และสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เปลี่ยนจากยุคสงครามเย็นเป็นยุคหลังสงครามเย็น เปลี่ยนจากความมั่นคงทางทหารเป็นความมั่นคงทางการค้า ส่งผลให้เกิดการเปิดการค้าเสรีและการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการแข่งขันทางการค้า อีกทั้งยังนำไปสู่ Arab Spring ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความวุ่นวายทุกวันนี้

 

ในด้านจุลภาคก็เปลี่ยนจากการบริหารแนวตั้งเป็นแนวนอน เปลี่ยนจากระบบระเบียบเป็นความยืดหยุ่น เปลี่ยนเป็นการบริหารที่เอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพราะลูกค้าและประชาชนมีอำนาจมากขึ้น (Empowerment) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ส่งผลให้ชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ใครปรับตัวได้เป็นผู้ชนะ ถ้าใครปรับตัวไม่ได้ก็เป็นปัญหา ในเชิงมหภาคจะเห็นได้ชัดว่าประเทศที่มีขีดความสามารถในการพัฒนา IT จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศที่ยังคงผลิตแค่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จึงไม่น่าแปลกใจว่าเกาหลีใต้และสิงคโปร์สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันได้เร็ว ขณะที่ไทยเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เชิงจุลภาคจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ 10 อันดับแรกของโลกจะเกี่ยวข้องกับ IT เป็นส่วนใหญ่ ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ปัจจัยการแข่งขันคือเงินทุน แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3  ปัจจัยการแข่งขันคือความรู้ (Knowledge base)

 

ในปัจจุบัน เราอยู่ในรอยต่อระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 และ 4 ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม 3 ครั้งแรกคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมในเชิงของผลผลิต เช่น เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า IT แต่ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการปฏิวัติ system เพราะเป็นการพบกัน (convergence) ระหว่าง 4 ระบบ คือ ระบบ IT ระบบชีวภาพ ระบบนาโน และระบบฟิสิกส์ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ทั้งในเชิงความเร็ว (Speed) ความลึก (Scope) และความกว้าง และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกทุกมิติ ทุกอณู ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ชัดจากโดรน การขยายตัวของหุ่นยนต์ (Robot) การพัฒนารถที่ไม่มีคนขับ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นในด้านสังคมการเมือง ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ทั้งของรัฐบาลและประชาชนจะถูกกระทบมาก รัฐบาลจะควบคุมประชาชนได้ลึกขึ้น ประชาชนก็สามารถเรียกร้องรัฐบาลเพราะเข้าสู่ความโปรงใสมากขึ้น Arab Spring คือภาพฉายของผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ในเชิงธุรกิจการแพทย์ จะมีชีวิตยืนยาวขึ้น หมอไม่ใช่แค่รักษาแต่มีหน้าที่ป้องปรามโรค ยาจะถูกใช้เพื่อการป้องกันโรคและเสริมความงาม เช่น สบู่ที่ใช้ได้ทั้งป้องกันโรคและเพื่อความสะอาด คนว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นและกลุ่มที่จะว่างงานเพิ่มมากขึ้นคือ กลุ่มระดับกลาง ในขณะที่ระดับบนจะมีจำนวนน้อยลงและได้เปรียบกลุ่มอื่นๆ คนระดับกลางจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ คนระดับล่างจะยังถูกใช้เป็นแรงงานโดยมี IT เข้ามาช่วย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะห่างกันมากขึ้น หุ่นยนต์จะถูกใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น หุ่นยนต์นั้นมีความฉลาด (intelligence) และสามารถทำอะไรได้เหมือนมนุษย์ แต่มนุษย์มีหัวใจ (Heart) มีความสงสาร และมีจิตวิญญาณ (Soul) มีความเชื่อ มีศาสนา การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะมีทั้งผลดีและผลร้าย ในด้านร้าย สังคมจะถูกครอบงำโดยหุ่นยนต์ (Robotize) จะขาดจิตวิญญาณ สังคมก็จะมีปัญหา แต่ถ้าสังคมมีการเตรียมตัวให้หุ่นยนต์สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้อย่างดี มีความเป็นมนุษย์ (Humanize) คือใช้ความฉลาดของหุ่นยนต์ และไม่ละเลยเรื่องจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ สังคมก็จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังตั้งประเด็นว่า มนุษย์จะอยู่อย่างไร สังคมจะอยู่อย่างไร เพราะฉะนั้นทุกสังคมรวมทั้งไทยต้องเตรียมปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้