3 เรื่องที่ Startup ควรรู้ : วีรยุทธ เชื้อไทย


ผมพบกับคำถามจากผู้ประกอบการมือใหม่จำนวนมากว่า “อยากมีธุรกิจเริ่มต้นอย่างไร” เป็นคำถามยอดนิยมที่ต้องตอบทุกครั้ง ทุกห้องสัมมนาว่า จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร? แท้จริงแล้วบรรดาพ่อค้าแม่ขายในตลาดที่เห็นกันกลาดเกลื่อน ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นแบบ “ธรรมชาติ” หรือที่เรียกว่า “ซื้อมาขายไป” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการทำการค้า

 

แต่ผมอยากจะบอกว่ายุค 4G วันนี้ถ้ายังทำการค้าแบบนี้ ผมเรียกว่า “การค้าหาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า” แบบนี้ยังไม่เรียกว่าทำธุรกิจ ทำธุรกิจต้องมีแผน ทำธุรกิจต้องมีแนวความคิดมีไอเดีย ทำธุรกิจต้องมีระบบ

 

วันนี้โลกหมุนเร็วเนี่ยเรื่องจริง โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสื่อสารยุคที่ 4 หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า 4G ความรู้ต่างๆ หาง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งการสื่อด้วยเสียง ด้วยข้อความ ด้วยภาพ หรือแม้แต่ด้วยคลิปวิดีโอ นี่คือปัจจัยทำให้การทำธุรกิจในยุค 4G “เกิดง่าย ตายเร็ว” แตกต่างกว่าคนรุ่นก่อน

 

ฝั่งลูกค้าก็เปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน เริ่มจากเสพข่าวสารสั้นๆ วิจารณ์แสดงความเห็นผ่านสื่อโซเซียลทันที ใจร้อนมากขึ้น ต้องการเห็นผลเร็วขึ้น ล้วนเป็นพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเกือบทุกประเภท โจทย์คือ “อยากมีธุรกิจเริ่มต้นอย่างไร”

 

 

3 เรื่องที่ควรรู้ก่อนลงมือเริ่มธุรกิจ

1. ควรรู้เรื่อง “เงิน” (Finance) หลายคนที่เริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ มักจะพูดว่า เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจคือ “การขาย” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ผิด แต่เป็นชุดความคิดแบบพ่อค้าแม่ขาย ไม่ใช่การทำธุรกิจ ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะ การเงินจะบอกถึง “สุขภาพกิจการ” แผนการเงินจึงเป็นแผนที่จะบอกถึงความสามารถในการผลิตมากน้อยเท่าไหร่ในรอบปี ต้องสต๊อกวัตถุดิบเท่าไหร่ ใช้เงินกับการลงทุนสร้างสินค้าเท่าไหร่ ได้สินค้าจำนวนกี่ชิ้น เพื่อนำไปสู่กระบวนการวางแผนการตลาด การกระจายสินค้า

 

รวมทั้งวางแผนเรื่องกำลังคน หรือแรงงาน ที่ต้องผลิต ต้องจัดจำหน่าย ให้เพียงพอต่อเป้าหมายของธุรกิจ นอกจากนี้ การเงินยังเป็นส่วนหนึ่งของการถูกหน่วยงานภายนอกประเมินความแข็งแกร่งของกิจการ เช่น สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ หรือลูกค้าต่างประเทศที่จะดูความมั่นคงในการสรรหาคู่ค้า ชุดความรู้เรื่องการเงินจึงสำคัญมากที่สุดสำหรับการเริ่มต้นกิจการใหม่

 

2. ความรู้เรื่อง “การตลาด” (Marketing) การตลาด การขาย เป็นแหล่งสร้างรายได้ของกิจการ และ “การตลาด” ต้องแม่น ต้องคม มากพอที่จะทำให้ “การขาย” ประสบความสำเร็จ ให้สังเกตคำ 2 คำนี้ เพื่อทำความเข้าใจ เพราะหลายคนพูดถึงการตลาด แต่พอลงรายละเอียดกลายเป็นการขายเสมอ

 

การตลาด คือ มองภาพรวม+มองโอกาส เพื่อตั้งเป้าหมายรายได้กิจการ ขณะที่การขาย คือ มองช่องทาง+วิธีการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการตลาด การตลาดที่คมมากพอควรให้ความสำคัญกับแผนการผลิต แผนการสร้างภาพลักษณ์สินค้าในใจลูกค้า แผนการพัฒนาตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้สินค้ามีความชัดเจนในการทำตลาดและสามารถสร้างยอดขายให้กับกิจการได้ในที่สุด

 

ส่วนการขายมุ่งให้ความสำคัญกับช่องทางการขาย การกระจายสินค้าที่รวดเร็วด้วยต้นทุนที่ต่ำ รูปแบบการขายในแต่ละช่องทาง เช่น การสร้างตัวแทนจำหน่าย การขายผ่านเอเย่นต์ การขายออนไลน์ เป็นต้น การขายจะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับความเร็วในการกระจายสินค้าสู่กระบวนการขาย และสัมพันธ์กับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยรูปแบบที่เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายที่ตรงมากที่สุดนั่นเอง

 

3. การจัดการ (Management) ผู้ประกอบการ SME มักเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีจำนวนคนในกิจการน้อยถึงน้อยมาก บางแห่งมีเพียงสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น การจัดการธุรกิจจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยงานแบบง่ายขึ้น เร็วขึ้น อาทิ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยบริหารงานขายและงานบัญชี โปรแกรมการจัดการระบบผลิตต่างๆ โปรแกรมการจัดการด้านจัดส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย เฉพาะเจาะจงกับรูปแบบธุรกิจมากขึ้น อาทิ โปรแกรมบริหารร้านอาหาร โปรแกรมบริหารคลินิก ฯลฯ ผู้ประกอบการจึงควรเลือกใช้ หรือควรเรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้ให้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ การสร้างเครื่องมือเสมือน (Tool Visual) มีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก เครื่องมือนั้นคือ การสร้างสายสัมพันธ์ (Connection) กับกลุ่มคนระดับต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการสร้างช่องทาง สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจ การนำพาตัวเองเข้าสู่การสร้าง Connection นั้นไม่ยาก

 

ปัจจุบันมีงานสัมมนาต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน จัดขึ้นอย่างมากมาย เพียงแค่เราสมัครเข้าร่วมและเตรียมนามบัตรกับใจที่เปิดกว้างเข้าร่วมกิจกรรม แล้วสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ประกอบการอื่นในห้องเรียน หรือกับวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาสอน ก็สามารถบริหารความสัมพันธ์เพื่อธุรกิจได้แล้ว

 

ชุดความรู้เพื่อการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันแตกต่างจากชุดความรู้ดั้งเดิมที่ผู้ประสบความสำเร็จคนเดิมเคยเล่าให้ฟังแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแล้ว เพราะลูกค้าเปลี่ยนแล้ว “คุณจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน” เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกิจการของตนเอง