ผู้นำกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ : อาจารย์สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์


ผู้นำในยุคปัจจุบันนี้มีเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ความเป็นไปในยุคปัจจุบันและสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งยากแก่การทำนายหรือเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ แต่สำหรับประเทศไทยเราในยุคปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่ามีตำรวจหญิงอย่างน้อย 3 ท่าน ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ผู้กำกับหญิง” ยุคแรกของประเทศไทย ทำให้วงการสีกากีของตำรวจตื่นเต้นกันมากว่าผู้หญิงจะทำงานได้หรือไม่หรือจะทำได้ดีเท่ากับผู้ชายหรือเปล่า ซึ่งความจริงไม่น่าจะต้องไปวิตกกังวลอะไรหนักหนา เพราะผู้หญิงเขาได้แสดงฝีไม้ลายมือในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์อยู่มากมายแล้วบางเรื่องอาจจะดีกว่าผู้ชายบางคนด้วยซ้ำไป เมื่อวันที่ 8 เดือนมีนาคม ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันสตรีสากล มีหลายหน่วยงานออกมาร่วมรณรงค์เรียกร้องให้สังคมมีการยอมรับสิทธิสตรีในด้านต่าง ๆ เหมือนเช่นทุก ๆ ปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้สังคมไทยมีความพิเศษไปยิ่งกว่านั้นเพราะนับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการใช้บังคับกฎหมายฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 สาเหตุเพราะในปัจจุบันสังคมไทยไม่มีมาตรการในการป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่ชัดเจน ทำให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

ผมได้รับเชิญจากสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ช่วยไปดำเนินการอภิปรายและทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์พระราชบัญญัติดังกล่าวร่วมกับท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านด้วยกันทำให้ทราบว่าพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้เป็นความก้าวหน้าของสังคมไทยที่ยอมรับและเปิดโอกาสให้แก่ทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือเพศทางเลือกก็ตามที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน  ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลบางประการของบรรดานักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย เพราะตามบทบัญญัติของ ม.17 วรรคแรกของพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติไว้ในทำนองที่ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทำมิได้”  และในวรรค 2 กล่าวว่า  “ถ้าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาหรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ”  ซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างขวางมากมายและสามารถ “ตีความ” ได้อย่างกว้างขวางเช่นกัน แต่โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่าการจะเขียนอะไรลงไปให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรในทางกฎหมายนั้นก็คงจะเขียนได้ยากและคงไม่มีทางรัดกุมได้หมด และถ้าเขียนละเอียดรัดกุมมาก ๆ พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็อาจจะต้องมา  ถกเถียงกันอีกนานจนอาจจะไม่ได้มีโอกาสออกมาประกาศใช้บังคับ การเขียนเป็นหลักการกว้าง ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้บังคับใช้กฎหมายได้ใช้ “ดุลยพินิจ” ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า              ดังนั้นท่านผู้นำทั้งหลายท่านจึงควรต้องศึกษาความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของกติกาของบ้านเมืองในเรื่องนี้ให้ดีเพราะมิเช่นนั้นแล้วท่านอาจจะกลายเป็นคนตกยุคหรืออยู่       “หลังเขา” ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันหรือเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนแล้ว

 

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ  คือการกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยกกีดกันหรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยปราศจากความชอบธรรมเพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด กฎหมายจึงกำหนดให้ต้องมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ” (สทพ.) ขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) และหากมีการละเมิดความบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้และคณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัยว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศแล้วก็จะต้องมีการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหาย โดยมีการตั้งกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศขึ้นทำหน้าที่บริหารจัดการเพื่อชดเชยและเยียวยาดังกล่าว

 

คราวนี้เรามาลองดูกรณีตัวอย่างการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกันบ้างซิครับ

 

1. บริษัทหนังสือพิมพ์ จ้างบรรณาธิการและเปิดรับสมัครผู้สื่อข่าวทั้งชายและหญิงภายใต้คุณสมบัติที่ว่า ต้องผ่านงานการข่าวทุกประเภทมาก่อน ซึ่งทำให้ผู้สมัครนักข่าวหญิงมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องโดยทางอ้อม เนื่องจากมีนโยบายข้อหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำข่าวอาชญากรรม เพราะมีเรื่องความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงไม่สามารถสมัครเป็นผู้สื่อข่าวได้

 

2. โครงการเพาะพันธุ์เลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในหมู่บ้านที่กำหนดนโยบายว่าจะให้โอกาสในการเป็นเกษตรกรทั้งชายและหญิงเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น การฝึกอบรมในทุกด้านก็จะเปิดโอกาสให้ทุกคน แต่มีเงื่อนไขหนึ่งที่ระบุว่า ผู้สมัครจะต้องมีที่ดินการทำเกษตรเพื่อดำเนินการตามโครงการ จึงไม่มีผู้หญิงเข้าร่วมเพราะตามความเป็นจริงผู้หญิงเหล่านั้นไม่ได้ครอบครองที่ดินเพื่อทำการเกษตร แต่เป็นสามีเป็นผู้ถือสินทรัพย์ของครอบครัวแนวปฏิบัติหรือนโยบายบางอย่างดูเหมือนจะเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่ความเป็นจริงมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในตามความเป็นจริงที่มีมาแต่ในอดีต

 

3. ในกระบวนการยุติธรรม มีการอคติทางเพศ ในบางคดีที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยาจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย แต่มีการลงโทษขั้นต่ำเพียงการลงอาญา หรือกรณีคดีที่เกี่ยวกับเรื่องบันดาลโทสะ หากผู้หญิงเป็นผู้กระทำความผิดโดยใช้อาวุธทำร้ายหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับสามีตน ศาลจะพิพากษาว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ แต่กรณีกลับกันหากเป็นสามีใช้อาวุธทำร้ายร่างกายชายชู้ ศาลจะพิพากษาว่าเป็นการป้องกันศักดิ์ศรีของตนเองจึงไม่มีความผิด แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันอันเกิดจากการตีความกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย

4. การจัดและเลือกปฏิบัติในการจ้างงานบางประเภท โดยใช้ทักษะ ความชำนาญ และวิชาชีพชั้นสูงเป็นการกำหนดค่าจ้างแรงานในประเภทเดียวกัน ชนิดเดียวกัน

                        

5. การถูกจำกัดและกีดกันการทำงานเนื่องจากภาวะอนามัยการเจริญพันธุ์ เช่น การห้ามตั้งครรภ์ระหว่างทำงาน

                        

6. สถานการศึกษาบางแห่งประกาศรับสมัครนักศึกษาเฉพาะเพศชาย หรือเฉพาะเพศหญิง หรือรับเฉพาะเพศหญิงและชายแต่ไม่รับกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือบุคคลที่เป็นเพศที่สาม

                        

7. การกำหนดอายุการทำงานในสถานประกอบการบางแห่งที่ให้อายุการทำงานของเพศชายได้ถึง 60 ปี แต่เพศหญิงให้เกษียณอายุเพียง 55 ปี เท่านั้น

                        

8. ผู้ประกอบการหอพัก หรือหอพักตามมหาวิทยาลัย จะมีกฎข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ที่แตกต่าง เช่น หอพักชายปิดในเวลาเที่ยงคืน หรือหอพักหญิงปิดในเวลา 4 ทุ่ม

                        

9. ในกฎหมายเรื่องสัญชาติ หากคนต่างด้าวเพศหญิงสมรสกับชายไทยจะได้สัญชาติไทย แต่หากหญิงไทยสมรสกับชายต่างชาติคู่สมรสจะไม่ได้สัญชาติไทย

 

จากกรณีศึกษาดังกล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านเห็นหรือยังครับว่าผู้นำยุคปัจจุบันจึงควรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” มากขึ้นอีกเยอะเลยใช่มั๊ยครับ?