ผมว่าบางช่วงบางจังหวะของชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ของพี่เหมือนกัน ของพี่ในเรื่องของความพิการที่พี่ประสบขึ้น พี่ก็ไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เปลี่ยนไปจนกระทั่งพี่ตั้งตัวไม่ทันครับ ครอบครัวตั้งตัวไม่ทัน: นาวาอากาศเอก ภราดร คุ้มทรัพย์
The Stronger คนหัวใจแกร่ง ครั้งนี้ พาไปที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ฟาร์มที่เกิดจากผลงานที่น่าภาคภูมิใจของกลุ่มคนพิการในพื้นที่ ที่ช่วยกันทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น ปลูกเมล่อน ข้าวโพด รวมไปถึงพืชผักสวนครัวอื่นๆ ภายใต้ชื่อ ใจดีฟาร์ม ซึ่งบุคคลที่เป็นแกนนำหลักนั้นก็คือ นาวาอากาศเอก ภราดร คุ้มทรัพย์ 1 ใน 7 นักบิน เครื่อง F 16 กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนกลายเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว โดยใช้เวลาการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลกว่าปีครึ่ง ท่ามกลางสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ เขาได้กำลังใจจากครอบครัวและผองเพื่อน ทำให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่หนักสุดในชีวิตมาได้ และความพิการทางร่างกาย ไม่ได้ลดคุณค่าความเป็นคนของเขาลงเลย เพราะเขายังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศชาติได้อีกมากมาย
คุณภราดร เล่าว่าการก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ เริ่มมาจากกลุ่มคนที่มีหัวใจเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะเห็นคนพิการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ฝ่ายหลักๆ คือฝ่ายการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา โดยจัดทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่พิการ จัดงบประมาณบางส่วนให้กับสถานศึกษา ที่มีความต้องการที่จะปรับสภาพแวดล้อม ให้กับเด็กพิการสามารถเข้าไปเรียนหนังสือได้
อีกฝ่ายหนึ่งก็คือ ฝ่ายให้การช่วยเหลือทางด้านรถเข็นสำหรับคนพิการ ซึ่งจะรวบรวมรถเข็นมือสองจากโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นกว่า 20 โรงเรียน ที่เป็นเครือข่ายร่วมกับมูลนิธิ มาให้กับนักเรียนไทย 7 โรงเรียน รวมถึงผู้พิการรอบๆโรงเรียนด้วย และฝ่ายสุดท้ายที่เชื่อมโยงกับใจดีฟาร์มก็คือฝ่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการ เป็นการสร้างงานคนพิการ และยังเชื่อมโยงกับบริษัทต่างๆ ให้เข้ามาจ้างงานคนพิการ ในชุมชนที่มูลนิธิดูแลอยู่ที่ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
การสร้างโมเดลฟาร์มต้นแบบขึ้นมาเพื่อเกิดความตระหนักให้กับสังคม บวกกับเวลาที่เราไปนำเสนอโครงการให้กับบริษัทต่างๆ ถ้าเราพูดเฉยๆในที่ประชุมเขาไม่เห็นภาพ ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริม จึงพัฒนารูปแบบมูลนิธิขึ้นมาก่อน จากนั้นก็เชิญบริษัทเข้ามาดู แล้วก็นำเสนอโครงการการจ้างงานคนพิการผ่านรูปแบบที่จำลองมา 1-2 ปี เมื่อบริษัทเขาเห็นถึงความก้าวหน้า และความเป็นไปได้ของโครงการ เขาก็จะสนับสนุน
แนวคิดหลักของใจดีฟาร์ม คือการปรับสภาพแวดล้อมฟาร์มเกษตรให้คนพิการทุกประเภทสามารถเข้าไปทำฟาร์มได้ แล้วส่งต่อรายได้ให้กับคนพิการ บางส่วนก็จะมอบให้กับโรงเรียนให้กับชุมชนที่มีส่วนร่วมกับฟาร์ม เช่น โรงเรียนหันคา ที่บางช่วงจะมีนักเรียนอาสาสมัคร เข้ามาทำงานร่วมกับคนพิการ เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีผลผลิตออกมา คนพิการก็จะไปมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่โรงเรียนด้วย
ใจดีฟาร์มมีพื้นที่ทั้งสิ้น 3 ไร่ ช่วงแรกปลูกเมล่อนอย่างเดียว เนื่องจากเป็นผลไม้ที่จะต้องใช้วินัยในการดูแล เพราะถ้าเกิดคนพิการหรือใครก็แล้วแต่ มีวินัยในการจัดการเรื่องเมล่อนได้ พืชอย่างอื่นก็สามารถทำได้ ปัจจุบันตลาดที่รับซื้อผลผลิตจะเป็นตลาดรอบๆ ฟาร์ม และตลาดรองคือตามเครือข่ายของมูลนิธิ รวมถึงตลาดออนไลน์ ในอนาคตต้องทำให้ตลาดนิ่งขึ้น เพราะมีแผนพัฒนาเป็นเครือข่ายใจดี 4 ภาค ซึ่งผลผลิตในแต่ละรอบจะมากขึ้น หากการจัดการเรื่องการตลาดไม่มั่นคง กลุ่มก็จะอยู่ไม่ได้
หากพูดถึงคนพิการเรามักจะรู้สึกว่า คนพิการจะถูกให้ตลอด ให้เงิน ให้สิ่งของ ให้สวัสดิการ รอรับอยู่อย่างเดียว แต่วันนี้ ผู้พิการส่วนใหญ่ของประเทศไม่ใช่แบบนั้น คนพิการส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้ให้หลายๆส่วน แม้แต่คนพิการบางคนเขาทำธุรกิจ ก็มีการคืนภาษีให้กับสังคมเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกับคนทั่วๆไป
การเข้าถึงสิทธิ์ รวมถึงการคุ้มครองในเรื่องกฎหมาย หรือข้อบังคับต่างๆ ที่สัมพันธ์กับงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มองว่าค่อนข้างสมบูรณ์ แต่สิ่งที่ควรตระหนักและเร่งดำเนินการ คือการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ซึ่งไม่เฉพาะคนพิการ แต่วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ก็พร้อมที่จะเป็นคนพิการอยู่แล้ว เพราะบางคนต้องนั่งวิลแชร์ หรือมีไม้ค้ำยัน ตรงนี้ถ้าเราสามารถที่จะต่อจิ๊กซอว์ให้มันเป็นแผ่นเดียว ให้มันเป็นเนื้อเดียวกันได้ เพราะจะนำพาให้ประเทศเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่านี้
ในส่วนของมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ เชื่อว่า 7 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการหล่อหลอมเป้าหมายร่วมกัน วันนี้กลุ่มผู้ที่สนใจในงานมูลนิธิเข้ามาช่วยงานมากขึ้น มูลนิธิของเราเป็นเพียงองค์กรที่เชื่อมต่อให้กับบริษัทที่สนใจในการจ้างงานคนพิการ ให้มารู้จักคนพิการในพื้นที่ที่มูลนิธิเราทำงานอยู่ ให้เขาสนับสนุนเงินทุนมาประกอบอาชีพ เพราะฉะนั้นกลุ่มของคนพิการปลายทางที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ก็อาจรวมตัวกัน ประกอบอาชีพที่มันเหมาะสมและมีคุณค่า
ในขณะเดียวกันเมื่อเขามีอาชีพที่เหมาะสม มีรายได้ตามสมควร เขาก็ตอบแทนชุมชนของเขาได้ อันนี้ผมเชื่อว่ามันเป็นการเติมเต็มสังคมซึ่งกันและกัน