จะก้าวไปอย่างไร ? เมื่อสตาร์ทอัพอาเซียนมาถึงทางตัน ปี 2019


ภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบันคล้ายกับจีนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คืิอกลุ่มชนชั้นกลางเติบโตขึ้น มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ที่สำคัญ สตาร์ทอัพในแบบเศรษฐกิจชนชั้นกลางก็กำลังเติบโตอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบก้าวกระโดดมาจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามกันว่า การเติบโตนี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหนและเมื่อไร ตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มจะเติบโตแบบไม่หยุดจะสามารถเติบโตในระดับโลกเป็นเป้าต่อไปได้หรือไม่

แม้ประชาคมอาเซียนตั้งเป้าว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลกให้ได้ในปี 2020 แต่นักวิเคราะห์มองว่า การเติบโตของภูมิภาคอาจมาถึงจุดสูงสุดของมันแล้ว และได้เวลาที่ต้องไปต่ออีก ตลาดอาเซียนทุกวันนี้เป็นบ้านหลังใหญ่ของสตาร์ทอัพแบบยูนิคอร์นหลายแห่ง หนึ่งในนั้นได้แก่ Grab บริษัทที่ให้บริการเรียกรถโดยสารไม่ว่าจะเป็นรถส่วนบุคคลหรือรถแท็กซี่ สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าพันล้านเหล่านี้ตั้งเป้าขยายตลาดออกนอกบ้านเกิด ในขณะเดียวกันก็ยังทำรายได้ให้กับภูมิภาคต่อไปในอนาคต

 

ยิ่งหลากหลาย ยิ่งได้เปรียบ

การมีคู่แข่งมาก สตาร์ทอัพจะมีโอกาสได้ปรับปรุงคุณภาพของตัวเอง และยิ่งตลาดมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและอื่น ๆ ด้วยแล้ว เช่น ในอินโดนีเซีย ที่มีภาษาที่ใช้กันถึง 700 ภาษา และในกลุ่มประเทศอาเซียนมีวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่าง ก็ช่วยให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ได้เรียนรู้ตลาดที่แตกต่างกัน และพร้อมที่โบยบินออกไปเติบโตนอกตลาดภูมิภาคได้ไม่ยาก

ความหลากหลายในด้านประชากรศาสตร์และความเป็นเมืองหลวงในภูมิภาคให้ประสบการณ์ที่ดีแก่สตาร์ทอัพ ยกตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ที่มีประชากรราว 5 ล้านคน บนเกาะเล็ก ๆ ขนาด 278 ตารางไมล์แต่มีความเป็นชุมชนเมืองสูง ในทางกลับกัน ประชากรครึ่งหนึ่งของอินโดนีเซียอยู่ในพื้นที่ชนบท มีเมืองหลักอยู่ 2 แห่งในพื้นที่รวมกัน 735,400 ตารางไมล์

นอกจากนี้ ความหลากหลายในแง่ของกำลังซื้อและพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคก็เป็นตัวทดสอบที่ดีให้กับสตาร์ทอัพ ซึ่งข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของสิงคโปร์นั้นสูงกว่าของอินโดนีเซีย 9 เท่า และสูงกว่าเวียดนาม 24 เท่า และสูงกว่าพม่า 44 เท่า สตาร์ทอัพที่จะเข้ามาเจาะแต่ละตลาดจะต้องศึกษาให้ดีว่า กำลังซื้อสินค้าและบริการของตัวเองในแต่ละประเทศในภูมิภาคมีมากแค่ไหน

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในอาเซียนก็หลากหลาย ปัจจุบัน ประชากรในลาวแค่ 23% เท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ในสิงคโปร์ คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมีสูงถึง 80% สตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจผ่านสมาร์ทโฟนและต้องการขยายตลาดก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของแต่ละตลาดเป็นอย่างดี รวมไปถึง เข้าใจผลิตภัณฑ์ที่จะขายในภูมิภาค กลยุทธ์การขายและการตลาด เพื่อเจาะในแต่ละตลาดที่แตกต่าง

แม้ความท้าทายมีมากในตลาดที่มีความหลากหลายสูง แต่สตาร์ทอัพน้องใหม่อย่าง Go-Jek ก็สร้างความสำเร็จและเป็นตัวอย่างของความหวังที่จะตีตลาดที่หลากหลายนี้ให้แก่สตาร์ทอัพรายอื่น ๆ โมเดลธุรกิจของ Go-Jek ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามตั้งแต่ในบ้าน เพราะตอบโจทย์เรื่องการเดินทางของผู้คนที่ต้องทนรับกับสภาพจราจรที่ย่ำแย่ และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดี และสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จของ Go-Jek ได้เป็นอย่างดี คือการกระจายไปทั่วภูมิภาคในปัจจุบัน

อีกตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอีกเจ้าคือ คือ Traveloka ซึ่งก็ไปไกลนอกภูมิภาค โดยได้รับอานิสงส์จากเงินทุนก้อนใหญ่จาก Expedia มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
เมื่อกองทัพบัณฑิตจบนอกพากันกลับบ้านเกิด

ในช่วงปี 2000 ตลาดสตาร์ทอัพในจีนยังเป็นอะไรที่ใหม่มาก แต่เมื่อเหล่าบัณฑิตจบนอกที่เคยตั้งรกรากในต่างประเทศหลังเรียนจบแล้วกลับบ้านเกิดมาเริ่มธุรกิจของตัวเอง ก็เริ่มทำให้เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนไปในทางที่ดี ทุกวันนี้ เศรษฐกิจชนชั้นกลางในกลุ่มประเทศอาเซียนก็กำลังดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนต่างประเทศกลับบ้านเกิด และเทรนด์นี้มีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจแบบสตาร์ทอัพขยายตัวขึ้นในอาเซียนเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในบรรดาผู้มีสัญชาติสิงคโปร์ 100 คน จะมี 6 คนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

รายงานล่าสุดของ Robert Waltersระบุว่า 82% ของชาวสิงคโปร์ที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศจะยอมกลับบ้าน หากมีข้อเสนอและโอกาสดี ๆ ให้พวกเขา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อ Google และ Alibaba เข้ามาเปิดออฟฟิศในสิงคโปร์ ก็ได้เวลาที่บรรดานักพัฒนาแอปพลิเคชันและวิศวกรซอฟต์แวร์สัญชาติสิงคโปร์พากันแห่กลับบ้าน

คนอาเซียนที่ออกไปชุบตัวในต่างประเทศเป็นเวลาซักพักเหล่านี้ ปัจจุบัน มีบทบาทสำคัญในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก เช่น ทีมก่อตั้ง Go-Jek, Grab และ Traveloka ก็เป็นทีมจบต่างประเทศทั้งสิ้น และมุมมองผนวกกับประสบการณ์ของคนเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เมื่อต้องขยายกิจการสู่ตลาดต่างประเทศ
 
นวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาบางอย่างในบ้านเกิดได้

แม้อาเซียนจะเติบโตเร็วมาก ระบบบางอย่างก็ไร้ประสิทธิภาพ และทำให้การเติบโตในบางภาคส่วนช้าไปด้วย เช่น ประชากรอาเซียนกว่า 400 ล้านคนยังไม่มีบัญชีธนาคาร แต่นวัตกรรมก็เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เช่น Grab, Go-Jekและ DHL เปิดตัวบริการทางการเงินให้กับคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และตามมาด้วยแอปพลิเคชันทางการเงินมากมายเพื่อขยายฐานลูกค้า

ธนาคารในหลายประเทศในอาเซียนก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เพราะไม่มีข้อมูลของผู้กู้ที่เพียงพอไว้ใช้ในการตัดสินใจปล่อยกู้ ผลก็คือ ทำให้เกิดการกู้เงินนอกระบบ และตามมาด้วยการทวงหนี้ที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ดังจะเห็นได้บ่อยจากสื่อต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน รายงานจากเครดิตสวิสในเดือนตุลาคม 2017 ระบุว่า กว่าหนึ่งในสามของประชากรในประเทศไทยขาดคุณสมบัติในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน จนนำมาสู่การกู้เงินนอกระบบที่มีมูลค่าสูงถึง 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อระบุปัญหาได้ตรงเป้า นวัตกรรมที่จะนำมาแก้โจทย์นี้จึงเข้ามา สถาบันการเงินบางแห่งปล่อยกู้ผ่านระบบการค้ำประกันด้วยเครือข่าย (P2P) และธนาคารใหญ่ ๆ บางแห่งก็ใช้ข้อมูลการให้คะแนนเครดิตเพื่อเป็นข้อมูลให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ มีข้อมูลเพียงพอที่ช่วยในการตัดสินก่อนปล่อยกู้

ในสิงคโปร์เองมีสตาร์ทอัพชื่อ Funding Societies ออกแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินด้วยระบบค้ำประกันด้วยเครือข่าย โดยได้งบประมาณจากการระดมทุนราว 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงการระดมทุนซีรีย์ B สตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์นี้ยังสามารถเพิ่มฐานลูกค้าในระบบกู้ยืมอีกกว่า 60,000 ราย

สถาบันการเงินขนาด SME ก็ให้บริการทางด้านการเงินต่าง ๆ กับบริษัทที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เช่น Finaxar ช่วยให้ธุรกิจขาดเล็กได้รับเงินสนับสนุนและทางเลือกด้านเครดิต ที่ผูกกับแพลตฟอร์มทางบัญชีคลาวด์ นอกจากนี้ ยังมีการนำเอา AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการเงิน โดยช่วยปลดล็อคธุรกรรมทางการเงินและสร้างผลกำไรให้ตลาดเงินกว่า 311 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
 
ก้าวต่อไปของสตาร์ทอัพอาเซียน

หลายปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์มองว่า การเติบโตในภูมิภาคมาถึงจุดสูงสุดของมันแล้ว และสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดในภูมิภาคนี้ก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์และทักษะที่แข็งแกร่งและพร้อมขยายตัวออกไปยังตลาดโลก
การไหลบ่ากลับบ้านเกิดของบรรดานักเรียนนอกและผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศได้ซักพักใหญ่ที่พากันกลับบ้านมาเปิดกิจการของตัวเองหรือเป็นลูกจ้างให้กับสตาร์ทอัพทุนหนายิ่งช่วยให้ตลาดภูมิภาคมีศักยภาพและพร้อมขยายธุรกิจออกนอกภูมิภาคได้

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพด้านการเงินและธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลต่าง ๆ ก็เข้ามาช่วยอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นหลายอย่างในภูมิภาค และทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคสามารถแข่งขันทัดเทียมในตลาดโลกได้

จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ปี 2019 เป็นปีที่เศรษฐกิจแบบชนชั้นกลางที่ได้กองทัพสตาร์ทอัพมาช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายได้ถึงจุดอิ่มตัวของมันแล้ว และก้าวต่อไปของอนาคตสตาร์ทอัพในเอเซียนคือ แบรนด์ต่าง ๆ จะต้องมุ่งสู่ตลาดโลกเป็น Global Brand เท่านั้นจึงจะอยู่รอด
 
เขียนโดย
June Chen

Source : Tech in Asia