“สัญญา” เป็นเรื่องของความสมัครใจทั้งสองฝ่ายที่อยากจะเข้ามาทำสัญญากัน โดยมีการพูดจากันในเบื้องต้นว่าถ้าจะมาร่วมหุ้น ลงทุนกัน ควรจะตกลงอะไรกันไว้บ้าง
ทั้งนี้บางคนอาจจะเป็นเพื่อนกัน สนิทกัน เลยคิดว่าใช้ “สัญญาใจ” กันก็ได้ จากนั้นคุยกันไปคุยกันมานานวันไปก็ลืมว่าคุยอะไรกันไว้ สุดท้ายมีเหตุมาทะเลาะกัน ก็ถกเถียงกันอีกว่าไม่ได้ตกลงกันอย่างนั้น ไม่ได้ตกลงกันอย่างนี้ ฉะนั้นการเขียน “สัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร” จะมีข้อดีมากตรงที่ว่าทำให้สองฝ่ายมาตกลงกันตั้งตอนแรกว่า เธอจะลงทุนอะไร ฉันจะลงทุนอะไร แล้วถ้าเราได้กำไรแล้วเราจะแบ่งผลประโยชน์กันอย่างไร เราจะบริหารงานกันอย่างไรดี ตกลงกันให้เรียบร้อย
จากนั้นก็เขียนบันทึกกันไว้ในสัญญา สองฝ่ายอ่านกันให้เข้าใจ ข้อไหนไม่เข้าใจ ถกเถียงกันให้เข้าใจตั้งแต่ต้น แล้วก็เซ็นสัญญาไว้ เพราะเมื่ออนาคตมีเรื่องทะเลาะกันขึ้นมาก็จะสามารถได้หยิบสัญญานี้ขึ้นมาดูได้ว่าได้ตกลงกันแล้วนะตั้งแต่ตอนต้นว่าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นแบบนี้ แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องของสัญญาใจที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีให้กันไว้ เพียงแต่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งกันในอนาคต
ข้อดีอย่างหนึ่งของการเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร คือเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายเกิดทะเลาะกันมีการขึ้นศาลกันจริงๆ ยังมีหลักฐานอะไรที่จะสามารถเอามาสืบพยานพิสูจน์ได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้อย่างไรเบื้องต้นกันแน่ บางทีการคุยกันด้วยวาจา คุยกันอยู่สองคนไม่มีบุคคลที่ 3 ที่มารับรู้ด้วยว่า คุณคุยอะไรกันเอาไว้ พอถึงเวลาไปขึ้นศาล เวลาคุณเบิกความ ศาลก็ไม่รู้จะฟังฝ่ายใคร เพราะว่าไปอยู่ 2 คน สุดท้ายก็เลยตัดสินออกไปในลักษณะที่ศาลจะมองไปเอง แต่จริงๆ อาจจะไม่ตรงกับเจตนาลมที่ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก แต่ถ้าเรามีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลก็จะเห็นว่าคุณตกลงกันกันอย่างนี้ ศาลก็ต้องบังคับไปตามนี้นะเพราะว่าคุณตกลงกันแบบนี้
หลักสำคัญในการเขียนสัญญาคือ
1. ต้องดูก่อนว่าเราจะทำในสัญญาเรื่องอะไร เป็นกิจกรรม นิติกรรมที่เราทำเป็นเรื่องอะไร เป็นซื้อขาย เป็นจ้างทำของ หรือเป็นเช่าหรือเป็นเรื่องอื่นๆ อันนี้ต้องดูให้ดี แล้วก็เขียนสัญญาตามหมวดกฎหมายในเรื่องนั้นๆ
2. คู่สัญญาที่มาเซ็นกับเราเป็นผู้มีอำนาจหรือเปล่า เพราะว่าถ้าไม่มีอำนาจเซ็นไปกลายเป็นว่าไม่ผูกมัดกับเขา เราก็จะไปเอาเรื่องคดีความกับเขาในอนาคตไม่ได้
3.เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆก็ต้องดูให้ดีด้วยว่ามันมีไปเกี่ยวพันด้วยหรือเปล่า
4. เรื่องของการเลิกสัญญา ต้องดูด้วยว่ามีเหตุใดบ้างที่เป็นการผิดสัญญา แล้วเหตุของการเลิกสัญญาเราเลิกกันได้อย่างไรบ้าง ฉะนั้นจะต้องมีทางออกของการที่เรามาผูกมัดกัน และต้องมีทางแก้ว่าถ้าเราจะเลือกแยกจากกันไป เราจะต้องแยกกันยังไง
5.ควรอ่านให้ละเอียดและเข้าใจตรงกันทุกข้อก่อนที่มีการเซ็นสัญญา
สุดท้ายควรให้ทนายความหรือนักกฎหมายช่วยดูรายละเอียดให้ด้วยว่าข้อตกลงของคุณแต่ละข้อ เป็นบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ มีข้อไหนที่เป็นโมฆะตามกฎหมายหรือเปล่า เป็นการขัดข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า นอกจากนี้ยังช่วยแนะนำได้ก่อนว่าสัญญาที่คุณตกลงกันไว้ มีข้อเสียเปรียบหรือไม่ เพราะหากในอนาคตเกิดการทะเลาะวิวาทกันแล้วคุณเสียเปรียบ ทำให้คุณเสียหายค่อนข้างเยอะ บางทีก็ไม่คุ้มกับธุรกิจที่คุณทำมาตั้งแต่ต้น แล้วคุณจะต้องมาเสียหายเยอะในบั้นปลาย