เจ้านายอายุน้อย กับเคล็ดลับบริหารพนักงานรุ่นเก๋า อายุมาก แบบไม่ผิดใจกัน


การทำงานสมัยก่อนคนที่จะขึ้นเป็นระดับหัวหน้าได้ ต้องเป็นคนที่มีอายุมาก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานมานาน ถึงจะคู่ควรกับตำแหน่งระดับสูงเท่านั้น แต่ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างปัจจุบันนี้ การวัดค่าของคนทำงานดี มีคุณภาพ และเหมาะสมกับตำแหน่ง ลำพังแค่ดูที่อายุอย่างเดียวนั้นไม่ได้อีกต่อไป เพราะเด็กรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับการเข้าถึงความรู้มหาศาลที่เรียกว่า Google รวมถึงมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอน และการบริหารจัดการ การทำงานต่างๆ มากมาย จึงทำให้คุณจะเห็นได้ว่า ผู้บริหารยุคใหม่นั้นมีอายุน้อยลงทุกวัน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการผิดใจกันในการสั่งงาน

พนักงานอายุมาก ไม่อยากรับคำสั่งจากหัวหน้าอายุน้อย

เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่มีการทำงานโดยยึดหลักอาวุโส ซึ่งทำให้คนที่มีอายุมากกว่ามักจะไม่กล้าใช้งาน หรือสั่งคนที่มีอายุมาก รวมถึงอาจเกิดการผิดใจกันได้ง่ายมากขึ้น ถ้าการสื่อสารนั้นไม่ชัดเจนมากพอ

มุมมองพนักงานอาวุโส : พนักงานอายุมากก็จะคิดว่าตัวเอง อายุเยอะกว่า มีประสบการณ์มากกว่า ทำไมต้องมาทำตามคำสั่งคนอายุน้อย ทั้งๆ ที่ตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน
มุมมองผู้บริหารอายุน้อย : แต่ในทางกลับกัน พนักงานที่ได้รับเลื่อนเป็นผู้บริหารก็จะมองว่าตัวเองมีความสามารถ และทุกคนควรจะยอมรับในสิ่งนั้นของตน

เพราะความคิดที่ไม่ลงรอยกันเหล่านี้จึงทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริหารอายุน้อย สามารถแสดงศักยภาพในการบริหารการจัดการที่ดี เพื่อให้ผู้อาวุโสยามรับ รวมถึงใช้ศิลปะในการใช้งาน และสั่งงานให้ผู้คนทำตามอย่างเต็มใจได้ง่ายๆ ด้วยหลักบริหารเหล่านี้

เทคนิคบริหารพนักงานรุ่นเก๋า อายุมาก แบบฉบับหัวหน้าอายุน้อย

ทำความเข้าใจความรู้สึกของเขา

เมื่อมีคนที่อ่อนประสบการณ์ และอายุน้อยกว่าอย่างคุณเข้ามาบริหารจัดการ เป็นธรรมดาที่คนอายุมากจะไม่ยอมรับในทีแรก และรู้สึกว่าพวกเขาเก่งกว่าคุณ แต่คุณไม่จำเป็นต้องราดน้ำมันเข้ากองไฟให้ทุกอย่างยิ่งแย่ คุณแค่พูดคุยกับเขาอย่างเป็นธรรมชาติ ถามไถ่สิ่งต่างๆ อย่างเป็นมิตร และแสดงความสามารถของคุณให้พวกเขายอมรับผ่านการทำงานจริง

ให้ความสำคัญและให้เกียรติพวกเขา

แน่นอนครับว่า คุณต้องยอมรับว่า ในบางเรื่อง คุณเองก็อาจจะมีประสบการณ์ หรือฝีมือที่ไม่มากเท่ากับพนักงานรุ่นเก๋าเหล่านั้น ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องทำท่าทีเหนือกว่าแต่อย่างใด เพียงแค่คุณยอมรับในจุดนี้ ให้คำชม ให้เกียรติพวกเขา และยอมรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาอย่างจริงจัง เท่านี้ก็ถือเป็นการเคารพการตัดสินใจ และทำให้เขารู้สึกว่าคุณเป็นเด็กที่ใช้ได้คนนึงเลย ซึ่งหลังจากนี้บรรยากาศในการทำงาน และการตั้งแง่ต่างๆ จะหายไป เหลือไว้แต่ความสบายใจเท่านั้น

ลดอีโก้ลง ขอความช่วยเหลือบางครั้ง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา

บ่อยครั้งที่มักจะเกิดช่องว่างระหว่างอายุขึ้นทำให้การสื่อสาร หรือการทำงานนั้นไม่ราบรื่น และเกิดเป็นปัญหาเดิมๆ ของผู้สั่งงาน และผู้ที่ต้องทำตามคำสั่ง ซึ่งตรงนี้คุณสามารถหลีกเลี่ยงการปะทะได้โดย เอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากเขาบ้าง เพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเขาสำคัญ และยังจำเป็น ทำให้เขาเห็นว่า คุณมองเห็นอะไรในตัวเขา คุณยอมรับเขา ซึ่งคนรุ่นใหม่อย่างคุณอาจจะชื่นชอบคำชมถ้าคุณทำได้ดี แต่กลับกันสำหรับพนักงานรุ่นเก่าแล้ว เขาต้องการแค่คำขอบคุณจากคุณเท่านั้นเอง
เปิดโอกาสให้เขาสอนคุณ และคุณสอนเขา

การแลกเปลี่ยนความรู้ หรือให้เขาได้แนะนำคุณในบางเรื่องที่เขาถนัดและมีความรู้จริง ก้จะช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ในทางกลับกัน การที่คุณสอนเขาให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยี การที่คุณแสดงความสามารถ และสอนเทคนิคต่างๆ ในการทำงานที่ช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานได้เยอะขึ้น จะทำให้เขามองว่าคุณเป็นเด็กที่เก่ง มีความสามารถ และนำไปสู่การยอมรับในการทำงานในอนาคต