ลี กา-ชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกงผู้ที่รวยเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย และอันดับ 23 ของโลกตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอบส์ เมื่อปี 2561 โดยเขามีทรัพย์สินมากกว่า 35.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งธุรกิจที่ทำนั้นจะดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง โทรคมนาคม และค้าปลีก
ปัจจุบัน ลี กา-ชิง ได้เกษียณอายุการทำงาน ก้าวลงจากตำแหน่งงานที่บริหารอยู่เป็นที่เรียบร้อย โดยส่งต่อให้ลูกชายได้เข้าไปบริหารแทน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในจุดเด่นที่ทำให้ ลี กา-ชิง ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ คือวิธีการจัดสรรเงินใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้คุณจะมีรายได้มากน้อยก็ตาม ซึ่งเขามีเคล็ดลับการใช้เงิน โดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ซึ่ง Smartsme จะมาอธิบายด้วยวิธีการง่ายๆ ด้วยการสมมุติขึ้นมาว่าคุณมีเงินเดือนอยู่ 20,000 จะมีวิธีจัดการอย่างไรตามแบบฉบับ ลี กา-ชิง
ส่วนที่หนึ่ง : ค่าใช้จ่ายทั่วไป
สัดส่วน : 30%
คิดเป็นเงิน : 6,000 บาท
ในส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง โดยในส่วนนี้มีข้อควรระวังอยู่ว่าเป็นค่าอาหารที่คนส่วนใหญ่มักควบคุมไม่ได้ และมักจับจ่ายเกินงบประมาณที่มีอยู่ ดังนั้น ควรมีวินัยอย่างเข้มงวดในเรื่องนี้ พร้อมทั้งดูว่ารายการอาหารอะไรที่ไม่จำเป็นก็ควรตัดออกไป เพื่อให้การใช้เงินในส่วนนี้คุ้มค่ามากที่สุด
ส่วนที่สอง : สร้างความสัมพันธ์
สัดส่วน : 20%
คิดเป็นเงิน : 4,000 บาท
การใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยแนะนำว่าคนๆ นั้นจะต้องเป็นคนมีทักษความรู้ หรือเก่งกว่า เพื่อเราจะได้เรียนรู้ทักษะ แนวคิดของคนนั้นๆ แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเองต่อไป ตลอดจนการสร้างความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างกันในวันข้างหน้า
ส่วนที่สาม: เสริมความรู้
สัดส่วน : 15%
คิดเป็นเงิน : 3,000 บาท
การหาความรู้ใส่ตัวอยู่เรื่อยๆ ถือว่าเป็นการพัฒนาตัวเอง โดยในปัจจุบันเราสามารถหาความรู้ใส่ตัวเองด้หลากหลายรูปแบบ เช่น การเดินเข้าร้านหนังสือหาเรื่องที่ตัวเองชื่นชอบ ,การเข้าคอร์สทางวิชาชีพในเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจ หรือลงทุน
ส่วนที่ 4 : ซื้อความสุขตัวเอง
สัดส่วน : 10%
คิดเป็นเงิน : 2,000 บาท
เงินส่วนนี้เป็นเงินที่ใช้ซื้อความสุขให้ตัวเอง เช่น การไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับตัวเอง ตลาดจนเป็นชาร์จแบตชีวิตให้กับตัวเองให้มีแรงบันดาลใจในการทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย
ส่วนที่ 5 : เงินเก็บเพื่ออนาคต
สัดส่วน : 25%
คิดเป็นเงิน : 5,000 บาท
การออมถือเป็นหลักการสร้างวินัยทางการเงิน และเป็นทุนสำหรับการใช้จ่ายในอนาคตหากมีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น เราสามารถทำให้เงินจากการออมงอกเงยขึ้นได้อีก ด้วยการนำไปลงทุนในกองทุนรวมของธนาคารต่างๆ, ซื้อพันธบัตร, ตราสารหนี้ หรือแม้กระทั่งการเปิดธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง
รูปภาพจาก : asiatatler