คำว่า หัวหน้า อาจจะฟังดูแล้วเหมือนคนที่มีตำแหน่งพิเศษที่คอยจ้องจับผิด หรือใช้งานเราหนักเหลือเกิน จนบางครั้ง เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกกั้นด้วยเส้นบางๆ ซึ่งเกิดระยะห่างที่ทำให้คุณอึดอัดใจหรือกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนที่เป็นหัวหน้างาน
แล้วจะต้องทำยังไงบ้างที่จะช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า และเป็นคนที่เขาไว้ใจ เว็บไซต์หางานอย่าง JobThai ได้ให้คำแนะนำดีๆ ไว้ 9 ข้อต่อไปนี้
1. กล้าที่จะยอมรับผิด และเรียนรู้จากมัน
เป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราจะไม่เคยพลาด และสมบูรณ์แบบไปซะทุกอย่าง แต่ถ้าพลาดแล้วเราต้องยอมรับและแสดงความรับผิดชอบ พยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และที่สำคัญก็คืออย่าทำผิดในเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกเด็ดขาด ใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียนที่ช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้า แล้วแสดงให้หัวหน้าเห็นว่าเราเรียนรู้และพัฒนาขึ้นจากเดิมยังไง
2. การส่งอีเมล เรื่องธรรมดาที่ห้ามมองข้าม
เรื่องการส่งอีเมลดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ของคนทำงาน แต่อีเมลหนึ่งฉบับก็ทำให้เห็นอะไรได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาได้รับอีเมลและต้องส่งอีเมลออกไป ก็ควรอ่านรายละเอียดให้ดีก่อน ทั้งเนื้อหาที่จะส่งไปว่ามันชัดเจนถูกต้องไหม หรือแม้กระทั่งเรื่องตัวสะกดต่าง ๆ ด้วย เพราะถ้าเราส่งอีเมลที่ผิดพลาดออกไปก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเรา หัวหน้า และทีมได้เลย
3. ทำงานให้ทันเดตไลน์ แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องรีบบอก
การส่งงานได้ตรงตามเดตไลน์เป็นเรื่องที่สำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะถ้างานเรายังต้องส่งให้คนอื่นรับผิดชอบต่อ เพราะการที่เราเลทไปคนนึงอาจจะทำให้แผนของคนอื่น ๆ พังตามกันไปหมด แต่แน่นอนว่าการทำงานก็ไม่ใช่จะราบรื่นเสมอไป ถ้าเราวางแผนการทำงานของเราดีที่สุดแล้วแต่ก็ยังทำงานให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ ก็ต้องรีบแจ้งหัวหน้า เพื่อจะได้ช่วยกันคิดแก้ปัญหา หรือปรับเปลี่ยนแผนการทำงานใหม่ให้มันสอดคล้องกันไป
4. ถ้ามีปัญหาให้หาทางแก้ ไม่ใช่เอาแต่รอความช่วยเหลือ
การเอาแต่นั่งรอความช่วยเหลือเวลาที่เกิดปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ดี เวลาที่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในการทำงาน เราควรจะพยายามหาสาเหตุ คิดวิเคราะห์ และหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก่อน เพราะทักษะพวกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในการทำงานยุคนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าใช้เวลาทั้งหมดไปกับการแก้ปัญหานั้น ถ้าเราเห็นแล้วว่าปัญหามันใหญ่ หรือแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้จริง ๆ ก็ควรจะขอความช่วยเหลือ
รวมถึงถ้าสงสัยหรือไม่เข้าใจในงานไหนก็ต้องรีบถามหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน ดีกว่าทำไปเรื่อย ๆ แล้วผิดพลาดจนเกิดปัญหาตามมา
5. แก้ปัญหาด้วยเหตุผล และอย่าโยนภาระให้คนอื่น
การมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นเรื่องปกติของการทำงาน แต่ถ้ามันเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่และไม่อยากจะถามหรือแสดงความคิดเห็นออกไปต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เราก็อาจจะขอคำอธิบาย หรือพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว และเมื่อได้รับโอกาสแล้วก็ต้องแน่ใจด้วยว่าตัวเองก็มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลพอ หรือถ้าหากมันเป็นปัญหา เวลาที่เข้าไปคุยกับหัวหน้าเราก็ต้องพยายามหาทางแก้ไขปัญหานั้น ๆ เอาไปเสนอเขาด้วย มันจะทำให้เห็นว่าเราไม่ได้เอาแต่ผลักภาระไปให้หัวหน้าฝ่ายเดียว
6. ยอมรับขีดความสามารถตัวเอง แต่อย่าหยุดเรียนรู้
อย่าคิดว่าการรับทุกงาน พูดคำว่า “ทำได้” ทุกเรื่องจะเป็นการพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนทำงานหนัก ต้องยอมรับว่าคนเราไม่ได้เก่งไปซะหมดทุกอย่าง และการทำงานโดยไม่นึกถึงขีดจำกัดของตัวเอง จะทำให้ศักยภาพการทำงานและคุณภาพของงานลดลง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธทุกอย่างที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้ เพียงแต่เราต้องมีความพยายามที่จะพัฒนา ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมถึงแชร์ความรู้ให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ด้วย
7. ทำงานเป็นทีมและวางตัวให้เหมาะกับสถานการณ์
เราต้องให้ความร่วมมือกับทีมในการสร้างผลงานคุณภาพ ยอมรับข้อตกลงของคนส่วนใหญ่ รวมถึงวางตัวให้เหมาะสมตามสถานการณ์ รู้ว่าตอนไหนที่เราควจจะออกความคิดเห็น และตอนไหนที่ควรจะรับฟังและคิดตาม เราต้องเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี และที่สำคัญเราต้องคิดก่อนพูดเสมอ
8. ช่วยแบ่งเบาภาระอะไรได้ ก็อย่ารีรอ
ตำแหน่งที่สูงก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากมาย ทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องการดูแลคน ในฐานะคนในทีม หากภาระงานของเราไม่ได้หนักหนาอะไรมากมาย เราก็อาจะเสนอตัวช่วยงานหัวหน้าบ้างตามความเหมาะสม เช่น เป็นพี่เลี้ยงสอนงานเพื่อนร่วมทีมคนใหม่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเขา
9. ปฏิบัติกับหัวหน้าเหมือนเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ บ้าง
ถึงหัวหน้าจะมีตำแหน่งที่สูงกว่า แต่เขาก็ยังเป็นคนทำงานเหมือนกับเรา ที่มีทั้งชีวิตการทำงานและไลฟ์สไตล์ส่วนตัวอื่น ๆ ลองหาจังหวะเวลาในบางช่วงของวันพูดคุยกับเขาในเรื่องสบาย ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานหรืออวยพรวันเกิดหรือเทศกาลสำคัญ ๆ บ้าง ก็จะช่วยให้เราและหัวหน้ามีความสัมพันธ์ที่ดี
Source : Jobthai