“ปฏิเสธ” อย่างไรให้คนอื่นไม่เคืองตัวเราก็ไม่รู้สึกแย่


ทุกวันนี้แต่ละคนก็มีเวลาของตัวเองไม่พอใช้อยู่แล้ว นี่ยังไม่รวมเวลาที่ต้องให้กับคนอื่น เวลาที่มีใครเข้ามาของให้ช่วยโน้นช่วยนี่ หากใครปฏิเสธไม่เป็น ก็จะพบว่าเวลาที่จะใช้ทำงานของตัวเองเหลือน้อยลงไปอีกจากที่ไม่ค่อยจะพออยู่แล้ว มาเรียนรู้วิธีการ “ปฏิเสธ” แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นกันดีกว่า

ความเกรงใจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ความเกรงใจเพราะใส่ใจ กับความเกรงใจเพราะเกรงกลัว ต่างกันตรงที่หากเราคิดถึงคนอื่นนั่นคือความเกรงใจ แต่หากเราคิดถึงแต่ตัวเองนั่นคือความเกรงกลัว คนไทยเป็นคนขี้เกรงใจ มักใจอ่อน ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น ก็คงจะไม่เป็นไรหากความเกรงใจเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่หรือเดือดร้อน แต่การจะบอกปัดอย่างแข็งกระด้างก็คงไม่ดี แล้วจะปฏิเสธแบบไหนดี

1. สิ่งที่เราพูด ไม่สำคัญเท่าวิธีที่เราพูด เช่น ระหว่างการถูกโยนทองคำใส่หน้า กับการได้รับเหรียญห้าบาท พร้อมคำพูดที่มีความหมายหวานๆ คุณชอบวิธีไหนมากกว่ากัน คนส่วนใหญ่มักจะชอบการได้รับ มากกว่าการถูกกระทำ แม้ว่ามูลค่าของสิ่งของที่ได้มาจะต่างกันก็ตาม

2. ปฏิเสธโดยเสนอสิ่งที่เทียบเท่าหรือดีกว่ากลับไป

3. มีศิลปะในการพูด มีทักษะในการโน้มน้าว เช่น เข้าไปหาในเชิงการขอคำปรึกษา บอกเล่าปัญหาหรือปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สามารถตอบตกลงกับเขาได้ แล้วลองขอคำปรึกษาว่าเราควรทำอย่างไรดี

4. อย่าลืมให้เหตุผล อย่าตอบปฏิเสธแบบห้วนๆ โดยเด็ดขาด ยกเว้นว่าอยากจะตัดขาดกับคนที่เราปฏิเสธ

5. มองตา สัมผัสตัว หรือยิ้มให้

สุดท้ายคือการฝึกเพื่อให้เกิดความเคยชิน และปฏิเสธได้อย่างเป็นธรรมชาติ และฝากไว้ว่าการปฏิเสธคนอื่น เท่ากับการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มีเวลามากขึ้น หรือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือจำเป็นมากขึ้น ดังนั้นจงหัดปฏิเสธให้เป็น

อ้างอิง: ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาด้านสมอง