กระทรวงพาณิชย์ เตือนภัย! แก๊งปลอมเว็บไซต์กรมพัฒน์ ชวนร่วมลงทุน


กรมพัฒน์เตือนภัยประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ ตรวจสอบให้รอบคอบ หลังพบมิจฉาชีพทำเว็บไซต์กรมพัฒน์ปลอม ลวงเหยื่อหลงเชื่อร่วมลงทุน แนะตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องผ่าน DBD e-Service และ www.dbd.go.th

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒน์ได้ดำเนินการติดตามและตรวจสอบด้านความปลอดภัยในการให้บริการข้อมูลนิติบุคคลแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นข้อมูลผ่านทางระบบออนไลน์ของกรมฯ โดยเป็นมาตรการที่เคร่งครัดด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยีที่กรมฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

พบว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดีได้ปลอมแปลงเว็บไซต์ โดยใช้ชื่อโดเมนเนมว่า http:///dbd-go-thdbdwebthaii.com ซึ่งมีลักษณะรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์หลักของกรมฯ หน้าภาษาอังกฤษ และมีช่องทางให้ผู้ที่เข้าไปในเว็บไซต์ปลอมข้างต้นสามารถกรอกข้อมูลเพื่อเข้าไปตรวจสอบเลขนิติบุคคล ซึ่งเลขดังกล่าวเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นจริงกับกรมฯ

 

 

“เป็นที่ชัดเจนว่าการกระทำนี้ มีเจตนาเพื่อหลอกลวงให้ผู้ที่เข้าไปใช้เว็บไซต์ปลอมให้เชื่อว่าเลขนิติบุคคลที่ได้สมมุติขึ้น มีการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดต่อกับผู้ทำเว็บไซต์ปลอมนี้ถูกล่อลวงและหลงเชื่อให้ร่วมดำเนินธุรกิจ จนกระทั่งเกิดความเสียหายตามมา” นายวุฒิไกร กล่าว

ทั้งนี้ กรมฯ กำลังตรวจสอบเชิงลึกถึงที่มาและผู้ดำเนินการก่อตั้งเว็บไซต์ดังกล่าว ประกอบกับประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายและการปราบปรามผู้กระทำผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ก่อนจะส่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ จนถึงขั้นเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย

 

 

นายวุฒิไกรกล่าวอีกว่า กรมฯ ขอเตือนไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนให้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบการมีตัวตนของธุรกิจที่แน่ชัด โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ

1.Moblie Application : DBD e-Service

2.เว็บไซต์กรมฯ www.dbd.go.th เท่านั้น โดยค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เลือกหัวข้อบริการออนไลน์ จากนั้นเลือก บริการข้อมูลธุรกิจ และ DBD Data Warehouse โดยไม่เสียค่าบริการใดๆ และใช้งานระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยที่กำลังติดต่อหรือจะร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวต่างชาติ นอกจากจะใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกจากกรมฯ เป็นเอกสารให้คู่ค้าพิจารณาเพื่อเป็นเครื่องยืนยันความมีตัวตนแล้ว กรมฯ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ท่านสามารถให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจชาวต่างชาติว่าสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านระบบ DBD Data Warehouse ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทยได้อีกช่องทางด้วย เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลแบบเชิงลึกสร้างความมั่นใจและตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจอีกขั้น