“เพราะการได้เรียนรู้ คือโอกาส ประสบการณ์ และความท้าทาย” ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดคนชลประทานที่มากด้วยความสามารถมากมาย หนึ่งในนั้น คือนายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก ผู้ที่พร้อมเปิดรับทุกโอกาสที่ได้รับการหยิบยื่น เพื่อขับเคลื่อนงานของกรมชลประทานให้ก้าวหน้าภายใต้แนวทาง RID No.1
นายชำนาญ ชูเที่ยง เล่าว่า เขาเกิดที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นลูกคนเดียวของครอบครัว คุณแม่ประกอบอาชีพค้าขาย คุณพ่อประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เวลาที่ได้รับงานก่อสร้างด้านชลประทาน เขาก็มักจะได้ติดตามไปด้วยทุกครั้ง จุดประกายให้เกิดความสนใจหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จึงตัดสินใจสมัครสอบเข้าโรงเรียนการชลประทานในสมัยนั้นหรือวิทยาลัยการชลประทานในปัจจุบันก้าวแรกบนเส้นทางชลประทานจึงเริ่มต้นตั้งแต่นั้น
ลูกชายคนเดียว บินเดี่ยวเข้ากรุง
ภายหลังจากศึกษาจบจากวิทยาลัยการชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2537 เขาได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ในตำแหน่งนายช่างชลประทาน ระดับ 2 โดยเริ่มต้นบทบาทการทำงานที่สำนักงานชลประทานที่ 9 จังหวัดสระแก้ว พร้อมกับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์
“นับเป็นความโชคดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบุกเบิกงานชลประทานในจังหวัดสระแก้วที่แยกออกมาจากจังหวัดปราจีนบุรีในขณะนั้น ซึ่งต้องเริ่มสตาร์ทกันจากศูนย์ ตั้งแต่ สถานที่ทำงานและการทำงานในแต่ละด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม ศึกษาพื้นที่เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ วางโครงการใหม่ เช่น การก่อสร้างอาคารชลประทาน ประเภทโครงการชลประทานขนาดเล็ก การขุดลอกคลองรอยต่อระหว่างไทย-กัมพูชา การก่อตั้งที่ทำการโครงการชลประทานสระแก้วและงานด้านจัดสรรน้ำ นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้งานด้านพัสดุ ในการจัดซื้อวัสดจัดจ้างงานก่อสร้าง เนื่องจากขาดอัตรากำลังข้าราชการในช่วงนั้น”
การประกวดฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาดีเด่น กรมชลประทาน
จากนั้น นายชำนาญ ได้ย้ายไปทำงานในหลายสถานที่ ได้แก่ ฝ่ายออกแบบสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 3 ปฏิบัติงานด้านวิศวกรรมและด้านจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานจังหวัดสุโขทัย หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานจังหวัดอุตรดิตถ์ และโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก
หนึ่งในความภาคภูมิใจ คือ เมื่อพ.ศ. 2547 ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล สำนักงานชลประทานที่ 3 ได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนประกวดฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาดีเด่น ของสำนักงานชลประทานที่ 3 โดยสามารถนำทีมคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาดีเด่น ประจำปีพ.ศ. 2548
“ในช่วงนั้นมีข้าราชการ ลูกจ้างประจำลูกจ้างชั่วคราว ร่วม 80 คน พื้นที่บริหารจัดการน้ำกว่า 80,000 ไร่ ต้องพัฒนาคนให้เหมาะสมกับความสามารถ สอดคล้องกับงาน รู้จักพื้นที่ โดยนำประสบการณ์ด้านงานจัดสรรน้ำและการออกแบบมาสำรวจพื้นที่และคลองทุกแห่งร่วมกับการบริหารจัดการน้ำ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เครื่องมือทางด้านวิศวกรรมที่เหมาะสมมาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่และสร้างการมีส่วนร่วม กับส่วนราชการผู้นำในพื้นที่และเกษตรกรให้มากที่สุด”
บริหารงานช่วงวิกฤต อุทกภัยดินโคลนถล่มจังหวัดอุตรดิตถ์สร้างความเสียหาย
อีกหนึ่งประสบการณ์ที่ นายชำนาญได้เรียนรู้ ในครั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ เมื่อพ.ศ. 2549 คือการทำงานในช่วงภาวะวิกฤต เกิดอุทกภัยใหญ่สร้างความเสียหาย อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ต้องเผชิญกับดินโคลนถล่มจากน้ำท่วมรุนแรง ความช่วยเหลือและงบประมาณจากหลายหน่วยงานหลั่งไหลเข้ามา การขอรับการสนับสนุนงบประมาณและการใช้งบประมาณที่ได้รับต้องทำอย่างรัดกุมและมีหลักเกณฑ์ รวมทั้งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบรายงานความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา พิจารณาวางโครงการใหม่ร่วมกับผู้บริหารของกรมชลประทาน
2 ผลงานความภาคภูมิใจ นำเสนอจนได้รับรางวัล
มาถึงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน กับ 2 ผลงานที่ภาคภูมิใจ คือ “โครงการบางระกำโมเดล 60 และการขยายผลในปี 2561”ที่มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำจากเดือนพฤษภาคมมาเป็นเดือนเมษายน เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก จากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำหลากในช่วงวิกฤตของแม่น้ำยมกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง ประหยัดงบประมาณภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือ และลดผลกระทบจากอุทกภัยในเขตชุมชนและสถานที่ราชการ พร้อมขยายพื้นที่โครงการจาก265,000 ไร่ ในปี 2560 เป็น 382,000 ไร่ในปี 2561 และขยายผลไปสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 แห่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
และโครงการเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือต่างประเทศแบบให้เปล่า จากกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF) ที่จะพิจารณาให้การช่วยเหลือกับประเทศที่มีความเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบดังเช่นพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านที่เกิดภัยจากน้ำท่วมและภัยแล้งรุนแรงทุกปี จึงได้นำเสนอ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำยมสายเก่าและคลองน้ำไหล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จนสามารถผ่านการพิจารณาจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน GCF ในวงเงินกว่า1,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี สำหรับจัดทำข้อมูล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทานในพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ คาดว่าจะได้รับเงินทุนภายในปี 2563-2567
จากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ ทำให้นายชำนาญ ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างประจำดีเด่น ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เขาบอกถึงความรู้สึกว่า “การได้เข้าประกวดและได้มีโอกาสนำเสนอผลงานถือเป็นความภูมิใจของการทำงาน และการได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในการรับราชการ”
ปัจจุบัน นายชำนาญ ชูเที่ยง ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก “การทำหน้าที่ผู้อำนวยการชลประทานจะต้องมีความหลากหลายด้านพื้นที่และด้านการทำงาน จึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นี้ เพื่อสานต่อและดูแลในภาพกว้างของโครงการบางระกำโมเดล และโครงการการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนGCF เป็นการได้ทำงานต่อเนื่องในหน้าที่ที่เคยทำ และงานใหม่ ๆ ที่ท้าทาย”
ท้ายนี้ นายชำนาญ ได้เชิญพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา” เพื่อเป็นหลักในการทำงานของทุกคน ซึ่งจะทำให้เราเดินหน้าสานต่องานชลประทานให้รุดหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนดังเช่นวิสัยทัศน์ของกรมชลประทานที่จะเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการภายในปี 2579