เปิดมุมมองธุรกิจเพื่อสังคม


หนึ่งในแนวทางที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จำนวน 17 ข้อ ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป็นเป้าหมายโลก นับจากปี 2559 เป็นต้นไป ทอดยาวไปอีก 15 ปีข้างหน้า คือ การผลักดันให้เกิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ หรือ Social Business สู่ขีดระดับที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ระบุว่าวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2030 จะสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น ต้องนำธุรกิจเพื่อสังคมมาตอบโจทย์ 3 ศูนย์ โดยศูนย์แรก คือ สิ้นความยากจน (Zero Poverty) ศูนย์ที่สอง คือ ไร้การว่างงาน (Zero Unemployment) และศูนย์ที่สาม คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ (Zero Net Carbon Emissions)

ถ้าหากเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม สามารถใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ก็น่าสนใจไม่น้อย ที่จะมาทำความรู้จักกับ ธุรกิจเพื่อสังคม ตามแนวคิดของมูฮัมหมัด ยูนุส เพื่อนำมาใช้เป็นกลไกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ในหนังสือชื่อ ‘Building Social Business’ ที่มูฮัมหมัด ยูนุส เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ.2010 กล่าวไว้ว่า ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นธุรกิจแนวใหม่ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่ใช่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรซึ่งอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคหรือเป็นองค์กรการกุศล อีกทั้งยังไม่เหมือนกับกิจการประเภท ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ หรือ Social Enterprise ที่เปิดช่องให้มีการปันผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้น

ธุรกิจเพื่อสังคม อยู่นอกอาณาเขตของการมุ่งแสวงหากำไร เป้าหมายของธุรกิจเพื่อสังคม คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ ที่ครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ดังตัวอย่างของ กรามีน-ดาน่อน ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ด้วยการผลิตโยเกิร์ตที่เติมธาตุอาหารเสริมจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย หรือ กรามีน-วีโอเลีย ที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในแหล่งที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ด้วยการจำหน่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ในราคาถูกตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก หรือ บีเอเอสเอฟ-กรามีน ที่ต้องการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ ด้วยการผลิตและจำหน่ายมุ้งเคลือบสารกันยุงในแหล่งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของมูฮัมหมัด ยูนุส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรก เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาสังคมเป็นสำคัญ มีการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนหรือบุคคลทั่วไป และนำกำไรทั้งหมดที่ได้ กลับมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อ ดังในตัวอย่างข้างต้น ซึ่งยูนุสเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 หรือ Type I social business

เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 นี้ สามารถได้รับเงินลงทุนคืน เฉพาะเงินต้นเท่านั้น ไม่มีการให้ดอกเบี้ย หรือชดเชยค่าเงินเฟ้อใดๆ คือ non-loss และจะไม่ได้รับปันผลใดๆ จากกำไรที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ โดยกำไรทั้งหมดจะคงไว้ในกิจการเพื่อใช้แก้ปัญหาสังคม คือ non-dividend

ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 หรือ Type II social business เป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรและสามารถปันผลได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นของกิจการจะต้องเป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส เพราะการปันผลกำไรนั้น ถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม สมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง

ตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 ได้แก่ ธนาคารกรามีน ซึ่งถือหุ้นโดยคนยากจน ที่เป็นทั้งผู้ฝากเงินและลูกค้าสินเชื่อ โดยนำสินเชื่อไปใช้ในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากไร้ จนกลายมาเป็นการบุกเบิกแนวคิดสินเชื่อรายย่อย หรือ Microfinance ที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่มคนฐานรากในหลายประเทศทั่วโลก