เปิดมูลค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก คุ้มหรือไม่กับการซื้อมาถ่ายทอดสด


“ฟุตบอล” คือหนึ่งในกีฬาโปรดของมวลมนุษย์ชาติบนโลกใบนี้ เห็นได้จากมหกรรมที่เราต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง “ฟุตบอลโลก” ที่ 4 ปี จะจัดขึ้น 1 ครั้ง หรือจะเป็นฟุตบอลลีกชั้นนำในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, ลาลีกา สเปน ด้วยการแข่งขันที่สร้างความสนุกตื่นเต้นตลอด 90 นาทีที่ลงทำการแข่งขัน การแก้ไขสถานการณ์ข้างสนามของโค้ช เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้ รวมถึงการส่งเสียงเชียร์ทีมฟุตบอลที่เราชื่นชอบอย่างบ้าคลั่ง เหล่านี้จึงทำให้กีฬา “ฟุตบอล” เข้าไปอยู่ในใจของใครต่อใครบนโลกใบนี้

 

 

หากเราพูดถึงในเรื่องของธุรกิจ หนึ่งในช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับฝ่ายจัดการแข่งขัน คือการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับผู้ที่สนใจนำไปเผยแพร่ในประเทศของตนเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่ในประเทศไทยคงหนีไม่พ้นพรีเมียร์ลีก อังกฤษ โดยเราจะมาดูกันว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยต้องจ่ายเงินไปกับค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลระดับโลกนี้ไปเท่าไรบ้าง

ผู้ได้ลิขสิทธิ์ที่ผ่านมา

หากย้อนกลับไปในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอลฟรีเมียร์ลีกมาอย่างยาวนาน หรือเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาดอยู่เจ้าเดียว คือ True Vision ที่ได้ลิขสิทธิ์ตั้งแต่ฤดูกาล 2007/2008 มาจนถึง 2012/2013 จนกลายเป็นจุดขายให้กับเคเบิ้ลทีวีจานแดงรายนี้ในการเรียกเก็บค่าสมาชิกกับลูกค้าที่อยากดูเหล่านักฟุตบอลระดับโลกบนลีกผู้ดี

ต่อมา True Vision ต้องถูกท้าทายจากผู้เล่นรายใหม่อย่าง CTH ที่มองเห็นโอกาสจากการหารายได้ จึงตัดสินใจทุ่มทุนด้วยการใช้เม็ดเงินมหาศาลประมูลเอาชนะ คว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2013/2014- 2015/2016 ไปได้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าด้วยการใช้เม็ดเงินลงทุนไปมาก แต่การหาโฆษณา, การให้บริการกับสมาชิกที่สวนทางกันจึงทำให้ CTH ต้องขาดทุนไปในที่สุด

 

 

ถัดจากนั้น ฤดูกาล 2016/2017-2018/2019 เป็น beIN Sports ที่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และเป็น True Vision ที่ไปซื้อลิขสิทธิ์นำกลับมาถ่ายทอดต่ออีกครั้ง และล่าสุด ฤดูกาล 2019/20 – 2021/22 ก็เป็น True Visions ที่ได้รับลิขสิทธิ์อีกครั้ง

ไทยซื้อลิขสิทธิ์แพงกว่าประเทศอื่น

ด้วยกระแสความนิยมของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จึงไม่แปลกที่มูลค่าลิขสิทธิ์จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วรู้หรือไม่ว่าไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ใช้เม็ดเงินในการประมูลสูงเป็นลำดับต้นๆ

 

 

หากเปรียบเทียบฤดูกาล 2010/2011-2012/2013 กับ ฤดูกาล 2013/2014- 2015/2016 ที่ตัวเลขการประมูลเป็นไปอย่างก้าวกระโดด และเมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแล้วพบว่า ไทยจ่ายหนักที่สุด แพงกว่าเมียนมาที่ประมูลลิขสิทธิ์ได้ 1,200 ล้านบาท, เวียดนาม ประมูลลิขสิทธิ์ได้ 1,000 ล้านบาท, มาเลเซียประมูลได้ 6,800 ล้านบาท และอินโดนีเซีย ประมูลได้ 2,400 ล้านบาท

แต่อย่างที่ทราบกันว่า ผู้ชนะการประมูลในฤดูกาล 2013/2014- 2015/2016 ด้วยเม็ดเงินที่สูงเป็นประวัติการณ์อย่าง CTH ต้องประสบปัญหาขาดทุนแบบย่อยยับ ตั้งแต่การบริหารจัดการ การติดตั้ง ระบบการชำระเงิน ที่ยังไม่เป็นมืออาชีพพอ

ส่วนในฤดูกาล 2016/2017-2018/2019 เม็ดเงินการประมูลก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไร โดยบีอิน สปอร์ตส์ สถานีกีฬาของสำนักข่าวอัลจาซีรา ที่มีฐานเครือข่ายทั่วโลกทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย รวมถึงไทยด้วยที่สามารถคว้าลิขสิทธิ์ไปด้วยเงินประมูล 9,900 ล้านบาท

 

 

ดังนั้น ต้องมาดูกัน True Vision ผู้ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายล่าสุดในประเทศไทย จะมีกลยุทธ์การวางแผนการตลาดอย่างไร กับสภาวะในยุคดิจิทัลที่ใครๆ ก็สามารถหาชมฟุตบอล หรือกีฬาอื่นๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการบ้านสำคัญที่ต้องมีการจัดการให้ดี