AI และ Robotics จะเข้ามาทำลายอาชีพของมนุษย์ในปัจจุบันหรือไม่?


เทคโนโลยีในปัจจุบันได้เปลี่ยนทิศทางของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ให้มีความล้ำหน้าไปมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Deep learning, หุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือนวัตกรรมใหม่อย่าง ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและโดรน

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักอนาคตศาสตร์จึงต่างเฝ้าระวังถึงความเสี่ยงจาก AI รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตของมนุษย์ หลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราควรระมัดระวังเรื่องใดบ้าง” หรือ “AI จะมาแทนที่มนุษย์อย่างที่มีการทำนายกันไว้หรือไม่” นี่คือส่วนหนึ่งของหัวข้อ “The Coming Disruption: What Everyone Must Know About AI and Robotics” จากงาน Techsauce Global Summit 2019 ที่จะพาไปหาคำตอบในเรื่องนี้

เรื่องนี้ถูกคาดการณ์เอาไว้นานแล้ว

มาร์ติน ฟอร์ด นักอนาคตศาสตร์และผู้เขียนหนังสือ RISE OF THE ROBOTS ได้กล่าวถึงรายงาน The Triple Revolution ซึ่งได้มีการส่งมอบให้กับอดีตประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน เมื่อช่วงทศวรรษที่ 60 ว่า ในขณะนั้นได้มีการคาดการณ์ว่า อัตราการจ้างแรงงานมนุษย์จะลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์

ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีอย่าง AI และ Robotics เข้ามามีบทบาทในการทำงานบางอย่างแทนที่มนุษย์ อีกทั้งยังมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจได้คล้ายกับมนุษย์ ส่งผลให้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำงานได้หลายอย่าง และเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมในเวลาอันรวดเร็ว

AI แย่งงานคนจริงหรือ?

จึงเป็นที่มาของคำถามว่า “AI และ Robotics จะเข้ามาทำลายอาชีพของมนุษย์ในปัจจุบันหรือไม่” ซึ่ง มาร์ติน ฟอร์ด ระบุว่า ดูจากสถิติในปี 2014 แล้ว ผู้คนกว่า 80% ยังคงทำอาชีพเดิมที่ใช้แรงงานมนุษย์มาตั้งแต่ปี 1914 นั่นหมายความว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาแทนที่แรงงานของมนุษย์เสียทั้งหมด แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ มีประชากรราว 20% ที่เริ่มทำอาชีพเกิดใหม่อันเป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนี้ AI และ Automation ยังทำให้คุณภาพของงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในสหรัฐและอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้มีการใช้หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายกล่องสินค้าในโรงงาน เนื่องจากหุ่นยนต์พวกนี้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่บาดเจ็บ และมีศักยภาพในงานทำงานเหนือกว่ามนุษย์ ซึ่งในประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานไร้ฝีมือที่ทำงานแบบเดิมมาหลายสิบปีได้ แต่ถ้ามองในเชิงบวกแล้ว ฟอร์ดกล่าวว่า เราสามารถพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้มีทักษะในการทำงานด้านอื่นที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย

คนกลุ่มไหนกันแน่ที่ต้องระวัง

อย่างไรก็ตาม AI และ Automation ไม่ได้เข้ามาพลิกโฉมแค่เฉพาะกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น แต่กลุ่ม White collar workers หรือพนักงานออฟฟิศ ก็อาจพ่ายแพ้ให้กับความสามารถของ AI ได้

มาร์ติน ฟอร์ดยังได้ฝากเอาไว้ว่า ถ้าไม่อยากให้ AI เข้ามามีอำนาจเหนืองานที่เราทำอยู่ ก็ควรหันมาพัฒนาทักษะด้านการแก้ไขปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์ รวมถึงทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ความเห็นอกเห็นใจ และการเชื่อมสายสัมพันธ์กับผู้อื่น งานที่มีความละเอียดอ่อนอย่างการพยาบาล ซึ่งหากทุกคนสามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ แม้แรงกระเพื่อมทางเทคโนโลยีจะรุนแรงเพียงใด เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างแน่นอน

ทางออกของเรื่องนี้

ที่สำคัญเราไม่ควรกลัวความสามารถของเทคโนโลยีมากจนเกินไป เพราะหากเรารู้จักนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้วละก็ ทั้ง AI และ Robotics ก็ถือเป็นมิตรมากกว่าศัตรู เนื่องจากในทางธุรกิจ เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถยกระดับศักยภาพและช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและการบริการ และสามารถเข้าไปทำตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ AI และ Robotics ยังถือเป็น “The most powerful tools” ที่สามารถช่วยโลกของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการพัฒนาแวดวงการแพทย์, เวชภัณฑ์ยา, พลังงาน หรือคมนาคม ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาติอย่างภาวะโลกร้อน และปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่ทั้งภาครัฐและสังคมต้องเร่งร่วมมือกันแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป

อ้างอิง: Techsauce Global Summit 2019