เช็คเลย! ธุรกิจอะไรบ้างที่มีส่วนได้-ส่วนเสียจากผลกระทบค่าเงินบาทแข็งตัว


เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสถานการณ์ค่าเงินบาทไทยอยู่ในสถานการณ์แข็งตัว และมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกได้รับผลกระทบ รายได้หดตัวไปตามๆ กัน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) วิเคราะห์ว่ากำไรของธุรกิจส่งออกจะหดตัวถึง 6.6 หมื่นล้านดอลาร์สหรัฐฯ จากทิศทางการแข็งตัวของค่าเงินบาทจนถึงสิ้นปี 2562 ที่ 5% โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจะอยู่ที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัว มี 3 กลุ่มหลัก ดังต่อไปนี้

1.ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา, อาหารทะเล, เนื้อสัตว์ และเครื่องประดับ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในส่วนนี้ รายได้จะหายไปกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงจากระดับปกติ 0.3-3.2%

2.ธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์

ธุรกิจขายในประเทศ และนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก ได้แก่ เครื่องจักร/ชิ้นส่วน เหล็ก/โลหะ เวชภัณฑ์/เครื่องมือการแพทย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอต่างๆ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะช่วยให้การนำเข้าสินค้า หรือวัตถุดิบจากต่างประเทศลดต้นทุนลง คิดเป็น 6.2 หมื่นล้านบาท และทำให้อัตราผลกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากระดับปกติกว่า 0.3-4.9%

3.ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย

ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์, เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์ จะสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง จึงแทบไม่มีผลกระทบกับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่