“จุดแข็ง – จุดอ่อน – โอกาส – อุปสรรค” ในมาเลเซีย SME ไทยยังมีโอกาสแค่ไหน


มาเลเซีย คืิอ1 ในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีอัตราการการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศอย่างสม่ำเสมอ เพราะได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะยาว 5 ปี เพื่อผลักดันโครงการเมกะโปรเจคต์ต่างๆ บรรลุผลตามนโยบายที่วางไว้

โดยมาเลเซีย มีเป้าหมายที่จะนำประเทศที่กำลังพัฒนาก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563 และยิ่งนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกสมัยก็ยิ่งปลุกเศรษฐกิจมาเลเซียให้กลับมาคึกคักเป็นพิเศษ เพราะนายมหาเธร์เดินหน้าขับเคลื่อนปฎิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบายใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลไทยจะได้สานสัมพันธ์กับรัฐบาลมาเลเซียครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยปูทางให้กลุ่มนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในมาเลเซียสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

อานิสงส์ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย-มาเลเซีย นอกจากจะทลายกำแพงขวางกั้นระหว่างสองประเทศแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังบรรลุข้อตกเบื้องต้นนำร่องเปิดด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา-บูกิตกายูฮิตัม ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. – 16 ก.ย.2562 จากเดิมเปิดเวลา 05.00 น. และปิดเวลา 23.00 น. (เวลาท้องถิ่นไทย)

หากไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซียจะพิจารณาเปิดด่านการค้าอย่างถาวรเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศได้ตลอดทั้งปี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ข้อดีของการเปิดพรมแดนตลอด 24 ชั่วโมงจะอำนวยความสะดวก ย่นระยะเวลาขนย้ายสินค้าส่งถึงผู้บริโภคได้ทันกำหนดเวลา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย ซึ่งสินค้าที่ขนส่งผ่านด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม ไม่เพียงแต่เป็นสินค้าที่ส่งตรงไปยังมาเลเซีย แต่ยังส่งไปยังท่าเรือปีนัง ก่อนส่งต่อไปยังประเทศที่สาม และยังทำผู้ประกอบการลดต้นทุนขนส่ง สามารถลำเลียงสินค้าไปถึงคู่ค้าทันกำหนด สร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการและความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติ”

การที่มาเลเซียและไทยเปิดโลกสมัยใหม่ให้กว้างขึ้นเช่นนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันยังเกื้อหนุนนักลงทุนต่างชาติร่วมทั้งนักลงทุนชาวไทยที่จะมองหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในมาเลเซียซึ่งปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ กำลังซื้อสูง ที่สำคัญกำลังยกฐานะจากประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563 หากมองในด้านสังคม มาเลเซียยังเป็นสังคมคนรุ่นใหม่ เป็นวัยทำงาน มีการศึกษาสูง เมื่อเทียบกับไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมาเลเซียมีอัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองเคลัง และยะโฮบาร์รู

ปี 2561 การค้าระหว่ามาเลเซีย-ไทย มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท โดยปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเพราะทั้งสองประเทศเปิดด่านศุลกากรตลอด 24 ชั่วโมง โดยการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวของมาเลเซียรุ่งเรืองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คือฝั่งตะวันตกที่มีชายแดนติดกับไทย (ตะวันออกติดเกาะเบอร์เนียว) ทำให้ฝั่งตะวันตะวันตกกลายเป็นยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจสำคัญที่ดึงดูดนักธุรกิจเข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเกิดใหม่มากมาย

แต่ธุรกิจดาวเด่นยังคงเป็น “ค้าปลีกค้าส่ง” ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ อาทิเช่น 

1. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปซึ่งนับเป็นโอกาสในการขยายการลงทุน
2. กำลังซื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของความเป็นเมือง
3. การขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน

ด้วยเหตุนี้ ตลาดค้าส่งค้าปลีกของมาเลเซียจึงเป็นที่สนใจของกลุ่มนักลงทุนเพราะอัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองไม่หยุดซึ่งมาเลเซียมีอัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองร้อยละ 75.37 มีประชากรรวม 32.4 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี ทำให้สาขาบริการค้าส่งค้าปลีกเพิ่มสัดส่วนร้อยละ 11.5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ก่อให้การแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาดค้าปลีก ค้าส่งอย่างรุนแรง 

 

จุดแข็ง – จุดอ่อน – โอกาส – อุปสรรค สำหรับเป็นข้อมูลให้เอสเอ็มอีไทยได้ทราบก่อนเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย

 

จุดแข็งค้าปลีกมาเลเซีย

1. มีกำลังซื้อสูง และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป

2. เป็นประเทศเพื่อนบ้านกับไทย และมีกฎระเบียบการยกเว้นภาษีให้สินค้าไทยมาก ประกอบกับมีพรมแดนติดกับไทย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งไม่มาก 

3. มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอยู่ในระดับที่ดี

 

จุดอ่อน ค้าส่งค้าปลีก

1. มาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก โดยมาเลเซียฝั่งตะวันออก (รัฐสาลาวัค และรัฐซาบาห์) อยู่คนละฝั่งทะเล ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปโดยลำบากและมีต้นทุนสูง

2. มาเลเซียมีสภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มิใช่ระดับบริหาร

 

โอกาสทำธุรกิจค้าส่งค้าปลีก

1. มาเลเซียมีระดับการเปิดตลาดค้าปลีกส่งค้าในระดับปานกลาง

2. สินค้า/บริการของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาคนมาเลเซีย

3. มีอัตราการขยายตัวของกิจกรรมการค้าปลีกค้าส่งในระดับปานกลางตามระดับการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร และการใช้ชีวิตในสังคมเมือง

 

อุปสรรคด้านการลงทุน

1. มาเลเซียเริ่มขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ

2. บุคลากรขาดความสามารถด้านการตลาดในสาขาธุรกิจ 

3. แรงงานหายาก

4. แต่ละเชื้อชาติมีความเข้าใจในตัวงานต่างกัน

5. ผู้ประกอบการไม่คุ้นเคยกับสังคมและวัฒนธรรมของมาเลเซีย

6. กฎหมายมาเลเซียเอื้อประโยชน์ให้กับแรงงานค่อนข้างมาก

 

นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา แนะผู้ประกอบการไทยว่า การเข้าไปทำธุรกิจ ควรลงทุนร่วมกับพันธมิตรที่เป็นชาวมาเลเซียจะมีภาษีดีกว่า โดยเฉพาะลงทุนธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง หรือ ขายแฟรนไชส์ให้ชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความชำนาญ แต่ยังมีอีกธุรกิจเกิดใหม่ที่น่าเข้าไปลงทุน เช่น ร้านอาหาร ที่ชาวมาเลเซียนิยมรับประทานอาหารไทย มีโอกาสดีเพราะไทย-มาเลเซีย มีการค้าระหว่างกัน การขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสินค้าที่มาเลเซียยังต้องนำนำเข้าจากไทย เช่น พืชผลทางการเกษตร ผลไม้ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งแผงวงจรไฟฟ้า แต่สิ่งที่สำคัญที่นักลงทุนต้องการเข้าไปลงทุนในมาเลเซียต้องรู้จักคือ กฎระเบียบการทำธุรกิจให้ครอบคลุมทุกด้าน

ขั้นตอนการเข้าไปประกอบธุรกิจในมาเลเซีย มีดังนี้

1. ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนเองทั้งหมด หรือจะร่วมลงทุนกับท้องถิ่น

2. จากนั้นจัดทำรายงานข้อเสนอโครงการพร้อมหลักฐานการลงทุนมายื่นต่อ Malaysian Industrial Development Authority (MIDA) เพื่อความเห็นชอบและขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 3 เดือน

3. หากได้รับการอนุมัติ ต้องยื่นแบบฟอร์ม A 13 เพื่อจดทะเบียนชื่อบริษัทที่ The Companies Commission of Malaysia (CCM) ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาอีกประมาณ 12 วัน

4. หลังผ่านการอนุมัติจาก CCM ผู้ลงทุนจะต้องจัดทำตราบริษัท และส่งเอกสารให้ CCM ออกใบรับรอง เพื่อนำมาจดทะเบียนกับ Income Tax Department, Employment Provident Fund และ Social Security Organization ต่อไป

 Source : Bangkok Bank SME