สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ระบุว่า อินเดียกำลังเป็นหนึ่งในตลาดอาหารออร์แกนิกที่ใหญ่ที่สุดของโลก เพราะคนอินเดียมีค่าเฉลี่ยรายได้เพิ่ม และตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดอาหารออร์แกนิกที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในอินเดียเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยปัจจัยที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตมี 3 ข้อ คือ
- ทางเลือกในการจับจ่ายและช่องทางการซื้อที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้นจากการเติบโตของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ช
- นอกจากนั้นความรู้ความเข้าใจจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีหรือมีราคาถูกก็ช่วยส่งผลให้เกิดการตื่นตัว
- สุดท้ายคืออุตสาหกรรมดังกล่าวมีการแข่งขันสูงขึ้น และมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาจำนวนมาก เช่น ร้านค้าปลีกที่เพิ่มพื้นที่ชั้นวางสินค้าสำหรับกลุ่มออร์แกนิคโดยเฉพาะ ส่วนร้านอาหารและร้านกาแฟก็ปรับตัวเป็นร้านแบบออร์แกนิกมากขึ้น
ปัจจุบันตลาดออร์แกนิกในอินเดียครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม แต่ส่วนที่เติบโตมากที่สุด คืออาหาร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย ตามลำดับ ซึ่งอาหารออร์แกนิกก็ยังมีราคาสูง แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรก คือ 1. ผัก เช่น ผักโขม มะเขือเทศ กะหล่ำดอก มันฝรั่ง มะระขี้นก แครอท พริก พริกเขียว มะเขือม่วง 2. ผลไม้ เช่น มะม่วงอัลฟอนโซ่ ทับทิม กล้วย ลูกพีช และแอปเปิ้ล 3. ถั่วพัลส์ 4. น้ำผลไม้ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล น้ำสับปะรด น้ำว่านหางจระเข้ น้ำมะยม 5. ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวโพด แป้งข้าวโพด ข้าว 6. นม 7. เนื้อสัตว์ 8. ชา 9. ไข่ 10. เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ ชาเขียว น้ำอ้อย ชากะเพรา และเครื่องดื่มสมุนไพรอินเดียแบบอื่นๆ
อินเดียมีเขตเกษตรกรรมที่หลากหลาย เพื่อผลิตสินค้าออร์แกนิกทุกประเภท มูลค่าตลาดออร์แกนิกในปี 2559-2560 ประมาณ 40,000 ล้านรูปี อัตราการเติบโตปีละ 25% คาดว่าจะเพิ่มเป็น 100,000-120,000 ล้านรูปีภายในปี 2563 สำหรับส่วนของอุตสาหกรรม Consumer Packaged Goods (CPG) กว่า 40% เป็นอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยมีผู้บริโภคหลักเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองและมีรายได้สูง ขนาดของตลาดโดยรวม ในปี 2559 มีมูลค่า 533 ล้านรูปี ขยายตัว 17% จากปี 2558 และคาดว่าจะสูงถึง 871 ล้านรูปี ภายในปี 2564
โดยปี 2560-2561 อินเดียได้ผลิตสินค้าออร์แกนิก อย่างเมล็ดพืชน้ำมัน ซีเรียล ธัญพืช ชา กาแฟ ผลไม้แห้ง เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อิสราเอล เกาหลีใต้ เวียดนาม นิวซีแลนด์ ญี่ปุุน ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
สรุป
อินเดียเป็นตลาดใหญ่ ฐานคนมีกำลังซื้อสูงถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่การผลิตอาหารในประเทศยังไม่เพียงพอ ทั้งรัฐบาลอินเดียยังออกมารณรงค์เรื่องผลกระทบของสารเคมีและยาฆ่าแมลง จึงเกิดกระแสและความต้องการในการบริโภคอาหารออร์แกนิกในอินเดียเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจุบันร้านค้าออร์แกนิกยังมีจำกัดเฉพาะเมืองใหญ่ การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชจึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย บวกกับไทยและอินเดียมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน ทำให้สินค้ากลุ่มผลไม้สดไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า และวางขายในอีคอมเมิร์ชของอินเดียหลายแพลตฟอร์ม เช่น มังคุด ฝรั่ง ลำไย แก้วมังกร เงาะ ทุเรียน ข่า ใบมะกรูด พริกขี้หนู ซึ่งหากไทยสามารถยกระดับการผลิตจากผักผลไม้ทั่วไปเป็นสินค้าออร์แกนิกได้ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดไปอินเดียได้อีก