ปัจจุบันธุรกิจค้าขายเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นของผู้ประกอบการรายใหม่ ที่หันมาทำอาชีพอิสระหรือเลือกเป็นอีกอาชีพเสริม จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของธุรกิจค้าขายที่มีตัวช่วยอย่างระบบออนไลน์ มาทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นอีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากมายก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ แต่นั่นหมายถึงการมีคู่แข่งรอบด้านด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งปัจจัยที่มักทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ตกม้าตายตั้งแต่เริ่ม คือ การตั้งราคาไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ ในทุกธุรกิจต้องมีการกำหนดราคาไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม การตั้งราคาถือเป็นด่านแรกที่ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องตีโจทย์ข้อนี้ให้เหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไปหากรู้ว่าอะไรที่มีผลต่อการกำหนดราคาสินค้าของคุณ วันนี้ เรามี 7 เทคนิคการตั้งราคา เพื่อผู้ประกอบการรายใหม่ มาฝากกัน
1. ทำความรู้จักสินค้าของตัวเองให้ดีเสียก่อน
ก่อนจะตั้งราคาสินค้าผู้ประกอบการใหม่ต้องรู้จักสินค้าของตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนสินค้าต่อหน่วย รวมไปถึงรู้ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทไหน เช่น สินค้าทั่วไปซื้อง่ายขายคล่อง สินค้าเฉพาะเน้นกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ทั้ง 2 แบบสามารถบวกกำไรมากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งจำเป็นต้องประเมินจากต้นทุน จำนวนคู่แข่ง รวมไปถึงความต้องการของผู้บริโภค แน่นอนว่าสินค้าเฉพาะจะสามารถบวกกำไรได้มากกว่า แต่มีกลุ่มเป้าหมายที่เล็กกว่าสินค้าทั่วไปเช่นกัน
2. สำรวจตลาด หรือ ตรวจสอบราคากลาง
ก่อนจะตั้งราคาทุกครั้งควรสำรวจตลาดเพื่อเช็กราคา สินค้า บริการ ฯลฯ เป็นอย่างไร มีค่ากลางอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วมาคำนวณต้นทุนของเราว่าควรจะบวกกำไรมากน้อยแค่ไหนถึงจะได้ราคาที่เหมาะสมไม่หนีจากราคาตลาด ตัวอย่าง สินค้า เครื่องประดับแฟชั่น 1 ชิ้น ต้นทุนอยู่ที่ 500 บาท ในตลาดสินค้า เครื่องประดับแฟชั่นประเภทเดียวกัน ดีไซน์ คุณภาพ พอกัน ราคาอยู่ที่ 969 – 1,000 บาท นั่นทำให้เรารู้แล้วว่าควรบวกกำไรเพิ่มที่เท่าไหร่ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 80 – 120 % ซึ่งจะทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าสินค้าของเราแพงเกินไป หรือถูกจนน่าตกใจช
3. ประเมินคู่แข่ง
ในการขายสินค้าอะไรก็ตาม มักจะมีคู่แข่งหรือผู้ที่ทำธุรกิจสินค้า บริการ ฯลฯ ประเภทเดียวกันเสมอ การศึกษาคู่แข่งว่ามีจุดด้อย จุดแข็ง อย่างไรในการขาย โดยเฉพาะราคาจะสามารถเป็นแนวทางในการขายสินค้าของเราได้ ถ้าสินค้าเรามีคู่แข่งเยอะ ราคาสินค้าเราควรจะเกาะกลุ่มกันไปไม่ให้ต่างกันมาก แต่ถ้าหากสินค้าเรามีคู่แข่งน้อย แสดงว่าเป็นสินค้าเฉพาะ หรือสินค้าหายาก ที่ยังไม่มีใครขายมากนักก็สามารถบวกกําไรได้เยอะตามที่พอใจ
4. 9 เลขมหัศจรรย์
เชื่อว่าเคยเห็นผ่านตากันอยู่แล้วกับราคาสินค้าที่ลงท้ายด้วย 9 เช่น 99 129 159 179 เป็นต้น ข้อนี้เป็นการใช้จิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคาไม่แพงถึงแม้ในความเป็นจริงจะลดลงไปแค่ 1 บาท การตั้งราคาเต็มจำนวนหรือการใช้ตัวเลขกลมๆ มีผลต่อความรู้สึก ทำให้ลูกค้าคิดไปว่าสินค้านั้นแพง และอาจตัดสินใจไม่ซื้อได้ นอกจากนี้สามารถตั้งราคาขายแบบแพ็คก็จะสามารถเพิ่มยอดขายได้ เช่น ซื้อ 1 ชิ้น ราคา 39 บาท ซื้อ 3 ชิ้น 100 บาท เป็นต้น
5. ไม่ตั้งราคาต่ำจนเกินไป
การตั้งราคาถูกไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป อาจทำให้ลูกค้ามอง สินค้า บริการ ฯลฯ ในทางลบหรือไม่มั่นใจในตัวสินค้า ถึงแม้ว่าสินค้าจะคุณภาพดีแค่ไหนหากตั้งราคาต่ำเกินไป ลูกค้าอาจมองว่าเป็นสินค้าปลอม เกรดต่ำ และอาจส่งผลให้ลูกค้าตัดสินใจจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อซื้อความสบายใจ
6. ตั้งราคาสูงได้ แต่ต้องดีจริง
สินค้าบางชนิดที่มีความพิเศษ หายาก ต้องสั่งทําพิเศษ หรือเป็นสินค้าเฉพาะ เช่น งานฝีมือ แฮนด์เมดต่างๆ เทคนิคการตั้งราคาสูงเป็นการเพิ่มมูลค่า และเพิ่มคุณค่าในแง่จิตวิทยาให้แก่สินค้าทําให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นมีความพิเศษไม่เหมือนใคร มีขั้นตอนกระบวนการทำที่ยากใช้ระยะเวลานาน หรือมีเพียงแค่ไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ราคาจึงสมเหตุสมผลควรค่าแก่การตัดสินใจซื้อ
7. ตั้งราคาต่ำ สำหรับเป็นโปรโมชั่น
สําหรับการทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์สินค้าดีราคาถูกเพื่อสำรวจความต้องการสินค้าของผู้บริโภคก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรทำบ่อยครั้ง หรือใช้ราคาเดิมแต่มีของแถมก็ได้เช่นกัน ผู้ค้าควรกำหนดวันเวลาให้ชัดเจนและประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบมากที่สุด ซึ่งราคาที่ตั้งไม่ควรจะต่ำเกินจนไม่มีกำไร หรืออาจใช้ราคาขายแพ็คมาทำเป็นโปรโมชั่นพร้อมของแถมเป็นอีกทางเลือกที่ดี