เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้วางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับประเทศอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือการทำเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรป (European Union Vietnam Free Trade Agreement : EU-VN FTA) เหตุผลเพราะ
1.ช่วยเปิดตลาดสหภาพยุโรป(อียู)สำหรับสินค้าเวียดนามให้กว้างและได้เปรียบคู่แข่งขันมากยิ่งขึ้น
2.ช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
…ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) และ เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงเปิดการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม( European Union-Vietnam Free Trade Agreement:EVFTA) และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม- สหภาพยุโรป (EU – Vietnam Investment Protection Agreement : EVIPA) อย่างเป็นทางการ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และมีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 โดยเนื้อหากรอบข้อตกลงทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เปิดตลาดสินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน มีการลดภาษีกว่า 99% ของสินค้านำเข้าจากทั้งสองประเทศ
เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ เวียดนามจะลดภาษีทันที 65% ของสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 10 ปี ส่วนสหภาพยุโรปจะลดภาษีทันที 71% ของสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 7 ปี สำหรับข้อตกลง EVIPA ที่ได้ลงนามในคราวเดียวกันจะช่วยให้เวียดนามพัฒนากรอบด้านการลงทุนและการใช้กฎหมาย ให้มีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
โมเดลการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม ถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนไทยและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหภาพยุโรปควรศึกษาและเตรียมพร้อมรับมือ เพราะคาดว่าสหภาพยุโรปจะใช้ข้อตกลง EVFTA เป็นต้นแบบในการเจรจากับไทย โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ เช่น การเปิดตลาดยา รถยนต์ และเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ภาคบริการ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การระงับข้อพิพาทในการลงทุน รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศต่างๆดังนั้นไทยต้องตั้งการ์ดรับมือและศึกษารายละเอียดปลีกย่อยอย่างรัดกุมจะได้ไม่เสียเปรียบ
ทั้งนี้เมื่อความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปเพราะเวียดนามจะขายสินค้าได้แพงกว่าไทย เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีภาษีส่งออก อีกทั้งยังใช้สิทธิ GSP ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 โดยข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่เวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 508 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ( GDP) ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มการส่งออกของเวียดนามไปสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น 4-6% คิดเป็นมูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เมื่อเทียบกับการไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี คาดว่าจะมีมูลค่าแค่ 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2571 โดยสินค้าสำคัญของเวียดนามได้รับอานิสงส์ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป คือ เกษตร ประมง และสัตว์น้ำ อุตฯ รถยนต์-คอมพ์-ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม แข่งขันยากขึ้น
ด้านผลกระทบของความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนามต่อการส่งออกสินค้าไทยนั้น น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า “สาหัส” เพราะทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันกับเวียดนามในการส่งออกสินค้าไปยุโรปลำบากมากขึ้นเพราะเสียเปรียบด้านภาษี ทำให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทย คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมทั้งแผงวงจรไฟฟ้าอาจต้องย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนาม เนื่องจาก FTA เอื้อผลประโยชน์ให้เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดยุโรปมากขึ้นนั่นเอง
น.ส.พิมพ์ชนก แนะทางรอดผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ คือ ต้องเร่งพัฒนาทักษะด้านแรงงาน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเครื่องนุ่งห่ม ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย การใช้เส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้นด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ เพื่อจะได้ไม่เสียเปรียบข้อตกลง EVFTA ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้น
แนะไทยเร่งผลิต ข้าวหอมอินทรีย์ ตัวชูโรง
สำหรับข้าวหอมมะลิไทย มีข้อได้เปรียบด้านการค้าในตลาดยุโรปเหนือกว่าเวียดนามเพราะเป็นที่รู้จักทั่วโลกและได้รับการยอมรับในคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย แต่สิ่งที่ไทยควรเร่งสปีดหนีเวียดนามคือการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมี หรือข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันตลาดยุโรปและทั่วโลกกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีมูลค่าทางการตลาดกว่า 3.55 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิที่มีจุดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกข้าวได้ราคาแพงขึ้น ตลอดทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาประยุกต์ใช้กับการตลาด เช่น บล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารให้แก่ผู้บริโภค
สินค้าประมง-อัญมนี-เครื่องประดับ อ่วม
ส่วนผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก ของเวียดนาม มีแนวโน้มส่งออกปี 2562 จะเติบโตสูงมากผลพวงจากข้อตกลง EVFTA ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวยุโรป พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลและการทำประมงอย่างถูกกฏหมาย เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามแม้ว่าส่งออกไปยังอียูจะยังค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น หากเวียดนามได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการได้รับยกเว้นภาษีส่งออกไปยังตลาดยุโรป ที่อาจแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยในอียูได้ในอนาคต
สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะช้าไม่ได้ คือควรเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าอยู่เสมอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของไทยในอียู
ข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการค้าของอียู ในช่วง 10 ปี (ปี 2552-2561) มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 37.4% โดยเพิ่มขึ้นจาก 4,652,510.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 เป็น 6,393,528.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ซึ่งอียูนำเข้าจากเวียดนามเป็นลำดับที่ 47 ในปี 2552 แต่ในปี 2561 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 27 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 269.3% ส่วนนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 35 ในปี 2552 แต่ในปี 2561 ลงมาเป็นลำดับที่ 38 แต่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 30.1%
เมื่อพิจารณาเฉพาะในกลุ่มอาเซียน พบว่า ช่วง 10 ปี อียูนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ในปี 2552 มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ในอันดับที่ 5 เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเวียดนามจะมีศักยภาพแข่งขันที่สูงขึ้นจากการทำการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม
อย่างไรก็ตามในปี 2561 มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ในอันดับที่ 1 ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินค้านำเข้าของอียูจากเวียดนามเปลี่ยนไป โดยปี 2552 สินค้าสำคัญที่อียูนำเข้าจากเวียดนาม คือ 1.รองเท้า 2.เสื้อผ้า 3.กาแฟ/ชา ส่วนปี 2561 สินค้าสำคัญที่อียูนำเข้าจากเวียดนามคือ 1.อุปกรณ์ไฟฟ้า (โทรศัพท์มือถือ) 2.รองเท้า 3.เสื้อผ้า ทั้งนี้ อียูนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 51 เท่า จากปี 2552 ส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน อียูนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น 30.1 % โดยสินค้านำเข้าสำคัญของอียูจากไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเดิม คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
ไม่เพียงเวียดนามเท่านั้นที่ทำ FTA กับอียู ก่อนหน้านี้สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศของอาเซียนที่บรรลุข้อตกลงกับอียูมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันสินค้าส่งออกไปยังประเทศอียู ดังนั้นไทยต้องเจรจา FTA กับอียูโดยด่วน มิเช่นนั้นคู่แข่งส่งออกที่ประมาทไม่ได้อย่าง เวียดนาม จะก้าวขึ้นมาแซงไทยในอีกไม่เกิน 7 ปีข้างหน้า แซงหนีไทยไปอย่างชนิดที่เรียกว่า….ไม่เห็นฝุ่น