“ตลาดคนขี้เกียจ” มาแรงแซงทุกโค้ง! เปิดช่องทำธุรกิจใหม่ตอบโจทย์สายสลอธ


วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ชี้ “ตลาดคนขี้เกียจหรือ Lazy consumer” กำลังเป็นที่จับตามองและเป็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ เนื่องจากคนทั่วไปมีพฤติกรรมรักความสบายและหันมาพึ่งเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

โดยผลวิจัยพบว่า 10 พฤติกรรมที่คนไทยขี้เกียจที่สุดคือ

1.ออกกำลังกาย

2.รอคิวซื้อของ

3.ทำความสะอาดบ้าน

4.อ่านหนังสือ

5.ทำอาหาร

6.พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ

7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง

8.เรียน/ทำงาน

9.ออกไปช้อปปิ้ง

และ 10. การเดินทาง

 

 

ทั้งนี้จากพฤติกรรมดังกล่าวจะมีธุรกิจที่เตรียมรับอานิสงส์ ได้แก่

1.ธุรกิจที่ทำแทนได้

2.ธุรกิจไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ

3.ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที

4.ธุรกิจร่วมมือ ร่วมใจ

5.ธุรกิจที่เน้นการฟัง

นอกจากนี้ยังแนะภาคธุรกิจนำกลยุทธ์ SLOTH อันประกอบด้วย Speed ต้องมีความรวดเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกเสียเวลา Lean ต้องกระชับ ตัด ท่อน เพื่อง่ายต่อการใช้งาน EnjOy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก เกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ ConvenienT ความสะดวกสบาย ที่ทำให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น และ Happy ความสุข เมื่อความต้องการได้ถูกเติมเต็ม และ ปัญหาถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด โดยกลยุทธ์ดังกล่าวเหล่านี้ เพื่อที่นักการตลาด และ ผู้ประกอบการต่างๆสามารถนำไปปรับใช้ ต่อยอด ในการพิชิตใจมนุษย์ขี้เกียจให้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น SLOTH STRATEGY เร็ว กระชับ สนุก สะดวก แฮปปี้ ความสุขของลูกค้า ก็คือ ความสุขของเรา

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดแรงงานและเวลา จนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สังคมของความเคยชิน หรือที่เรียกว่า “ความขี้เกียจ” และเศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy) ซึ่งเกิดจากความต้องการความสะดวกสบายในชีวิต โดยที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินหากสินค้าหรือบริการนั้นๆช่วยทำให้รู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายมากกว่าเดิม และจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการความสะดวกสบายขั้นสุด ยังทำให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจจองคิว บริการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ สินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทาน เป็นต้น

สำหรับการตลาดขี้เกียจหรือเศรษฐกิจขี้เกียจนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 หลังจากที่เถาเป่า ผู้ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีนได้เก็บข้อมูลของลูกค้าและพบว่าคนจีนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 1995 มีการใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์สำหรับคนขี้เกียจมากถึง 70% โดยเป็นการจับจ่ายสินค้าที่อยู่ในหมวดอาหารพร้อมรับประทาน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอุปกรณ์ดิจิทัล และเครื่องสำอาง

และจากการศึกษายังพบอีกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคนขี้เกียจ ส่งผลให้สินค้าและบริการต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและเป็นวาระสำคัญของๆหลายบริษัท อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ประเทศจีนเท่านั้นที่มีการใช้จ่ายในเรื่องความขี้เกียจ เพราะขณะนี้เริ่มมีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่เน้นทำการตลาดไปที่กลุ่มเป้าหมายนี้ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทรับสั่งอาหาร (Food Delivery) ที่กำลังมาแรง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติดีแต่ไม่ต้องการเสียเวลาไปรอคิวหรือเดินทางไปซื้อเอง นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหรือบริการรูปแบบอื่นๆที่สามารถตอบสนองความขี้เกียจได้ อาทิ เครื่องพับผ้า เครื่องช่วยแปรงฟัน เว็ปไซต์ที่ช่วยเลือกเสื้อผ้า บริการจัดส่งวัตถุดิบปรุงอาหารพร้อมวิธีการทำ ฯลฯ

ดร.บุญยิ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิเคราะห์พฤติกรรมความขี้เกียจเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจหรือบริการในประเทศไทยนั้น ทางวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า

10 อันดับกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่

1.ออกกำลังกาย 84%

2.รอคิวซื้อของ 81%

3.ทำความสะอาดบ้าน 77%

4.อ่านหนังสือ 70%

5.ทำอาหาร 69 %

6.พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 68%

7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68%

8.เรียน/ทำงาน 65%

9.ออกไปช้อปปิ้ง 64%

และ 10.เดินทางไปไหน มาไหน 60%

เมื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึก 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่คนทั่วไปขี้เกียจที่สุด พบว่า กลุ่มมนุษย์อยากดูดีแต่ไม่มีแรงหรือการขี้เกียจออกกำลังกาย นั้น คนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 84% หรือประมาณ 55 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน มนุษย์ชอบช็อป แต่ไม่ชอบรอหรือขี้เกียจรอคิวซื้อของ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 81% หรือประมาณ 53 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน มนุษย์บ้านรกสกปรกค่อยทำ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 77% หรือประมาณ 50 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน ส่วนมนุษย์ไม่ชอบอ่านแค่ผ่านๆก็พอหรือขี้เกียจอ่านหนังสือ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 70% หรือประมาณ 46 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน และมนุษย์ชอบกินแต่ไม่อินทำอาหารหรือขี้เกียจทำอาหาร พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง 69 % หรือประมาณ 45 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ และทำไม่เป็น