ผลสำรวจคนรุ่นใหม่ติดตามข่าวในสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก ส่วนผู้สูงวัยยังนิยมสื่อสิ่งพิมพ์และทีวี


โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย พบว่ามีการบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหวมากที่สุด โดยมีผู้รับชม 85.9% รองลงมา ได้แก่ การบริโภคสื่อกลางแจ้ง มีผู้พบเห็นสื่อประเภทดังกล่าว 84.3% สำหรับสื่อทางเสียงและสื่อภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มีผู้บริโภค 55.6% และ 51.5% ตามลำดับ
ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่มีผู้บริโภคน้อยที่สุด โดยมีผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์เพียง 33.7%

วัยไหนชอบแบบไหน

โดยพฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทยมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอายุ โดยกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป (กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ.) ยังบริโภคสื่อในรูปแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก อาทิ การรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการ การอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษ

ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 41 ปี หรือน้อยกว่า (กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด) มีการบริโภคสื่อหลากหลายช่องทางมากขึ้นโดยเฉพาะการบริโภคสื่อออนไลน์ สำหรับกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ (ช่วงอายุ 42-56 ปี) เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มข้างต้น ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างที่เอามาเจเนอเรชัน (Generation Divide) และช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap)

สื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต ผู้สูงอายุมีแนวโน้มรับชมตามตารางออกอากาศค่อนข้างมาก และสัดส่วนการรับชมจะลดลงตามกลุ่มเจเนอเรชันที่มีอายุน้อยลง สำหรับการรับชมย้อนหลังและ/หรือตามความต้องการผ่านช่องทางออนไลน์มีสัดส่วนผู้รับชมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้มีอายุน้อย นอกจากนี้ สัดส่วนผู้รับชมทั้งสองรูปแบบยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้มีอายุน้อยมีรูปแบบทางเลือกในการบริโภคสื่อที่หลากหลายกว่า

สิ่งพิมพ์ยังไปต่อได้

ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่หันไปบริโภคหนังสือพิมพ์ในรูปแบบออนไลน์มากกว่า โดยกลุ่มเจเนอเรชันซีและวาย มีสัดส่วนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์เท่านั้น (ไม่อ่านในรูปแบบกระดาษ) ถึง 43.9% และ 31.5% ตามลำดับ ขณะที่ในกลุ่มผู้สูงอายุ (กลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. และเบบี้บูมเมอร์) มีสัดส่วนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษเท่านั้นสูงถึง 75% และ 65.3% ตามลำดับ

สื่อหนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อที่สะท้อนสถานการณ์ Digital Disruption มากที่สุด โดยผู้บริโภคหันไปอ่านสื่อออนไลน์แทนการอ่านสื่อในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจเนอเรชันวายและซีที่มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าประชากรอายุน้อยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคสื่อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ในขณะที่ประชากรสูงวัยยังคงบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่

แนวโน้มที่จะเป็นไป

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่บริโภคเป็นประจำ ซึ่งในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความซื่อสัตย์ (Loyalty) ของผู้บริโภคในสื่อประเภทต่างๆ ลดน้อยลง โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ต้องการมากกว่าแบรนด์ และเลือกบริโภครายการประเภทที่ตนสนใจเท่านั้น

แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตโดยใช้ Cohort Study พบว่า การลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมไม่ลดลงอย่างรวดเร็วนัก ประชากรสูงอายุของไทยจะยังคงมีความต้องการรับสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ กล่าวคือ อีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรยังมีแนวโน้มรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการอยู่

การสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

อ้างอิง: กสทช.