วิศวกรอินเดียผุดไอเดียช่วยโลก สร้างอิฐที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล


อิฐที่ทำจากพลาสติกของเขาหนึ่งก้อน ช่วยกำจัดขยะพลาสติกไปได้ 1.6 กิโลกรัม ขั้นตอนการทำไม่ได้ใช้การเผาไหม้จึงช่วยลดการส่งคาร์บอนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้อีก

อินเดียมีเตาเผาอิฐมากกว่า 140,000 แห่ง ตัวเลขจากงานวิจัยคาดการณ์ว่าเตาเผาเหล่านี้ทำการเผาไหม้ถ่านหินประมาณ 15 – 20 ล้านตันต่อปี สิ่งนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 40 ล้านตัน หากลดการเผาไหม้นี้ลงได้คงช่วยลดอุณหภูมิของโลกลงไปได้

นอกจากนี้ยังพบว่าในอินเดียมีขยะพลาสติกในแต่ละวันมากกว่า 25,000 ตัน และประมาณ 40% เป็นขยะที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ หากสามารถนำขยะพลาสติกเหล่านั้นมาใช้ทำอะไรบางอย่างก็จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกไปได้

จากแนวคิดเพื่อทำการแก้ไขปัญหาทั้งสองอย่างนี้ Jadavpur Banerjee นักศึกษาคณะวิศวกรรมทำงานร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อนำเสนอ Plastiqube อิฐทางเลือกที่ทำมาจากขยะพลาสติก ผ่านทางกิจการเพื่อสังคมที่ชื่อว่า Qube

Plastiqube เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกอย่างขวดน้ำและถุงพลาสติกที่นำมาทำความสะอาด แล้วทำการตัดเป็นชิ้นๆ เพื่อนำไปอัดเข้ากับแม่พิมพ์เพื่อให้ได้ก้อนอิฐพลาสติกออกมา ความพิเศษของอิฐชนิดนี้คือมันไม่ต้องใช้ปูนในการเชื่อมต่ออิฐแต่ละก้อน เนื่องจากตัวของอิฐมีการออกแบบมาให้คล้ายคลึงกับชิ้นส่วนของ Lego ทำให้อิฐแต่ละก้อนสามารถเชื่อมต่อกันได้เอง

Plastiqube สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมาก นอกจากนี้ตัวอิฐแต่ละก้อนช่วยกำจัดขยะพลาสติกได้มากถึง 1.6 กิโลกรัม นี่คือผลงานที่เกิดจากการพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างการปล่อยคาร์บอนไอออกไซด์และเรื่องของขยะพลาสติก

หากก้อนอิฐของเขาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ก็จะทำให้อินเดียสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศได้ถึง 2 เรื่องเลยทีเดียว

อ้างอิง: