รู้ได้ทันทีว่าคนนี้มีของ คนแบบไหนที่คุณไม่ควรต่อเงินเดือนตอนสัมภาษณ์


แน่นอนว่าในฐานะผู้ประกอบการ เราก็อยากจะได้คนที่มีฝีมือดีที่สุดมาอยู่ในองค์กร ด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำที่สุดที่เขาจะรับได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเวลาประกาศรับสมัครพนักงานสักคน คุณเองก็จะเขียนฐานเงินเดือนไว้ชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่เงินเดือนที่คุณจะให้แบบ 100% แต่คุณต้องสังเกตความสามารถ ความเข้ากันดีกับคนในองค์กร การตอบคำถาม การนำเสนอตัวเอง และปัจจัยต่างๆ อีกมากมาย ที่จะบอกว่าเขาคุ้มค่ากับเงินเดือนที่คุณเสนอ หรือที่เขาต้องการ

สิ่งที่ตามมาจากการสังเกตเมื่อตอนสัมภาษณ์คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะขอต่อรองเงินเดือนกับพนักงานที่สมัครเข้ามา เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายในบริษัทให้มากที่สุด แต่นั่นกลับเป็นดาบสองคม เพราะคนที่คุณกำลังสัมภาษณ์นี้เขาอาจจะสามารถช่วยเหลือองค์กรคุณให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้งานออกมาดีก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่มีการต่อรองเงินเดือนเกิดขึ้น เขาก็อาจจะไม่สนใจ และย้ายไปสมัครที่อื่นทันที

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ถ้าคุณกำลังรับสมัครพนักงานสักคน และเขาคนนั้นเข้าตาคุณมาก อยากได้มาร่วมงานด้วย คุณต้องสังเกตข้อสำคัญเหล่านี้ให้ดี ถ้ามี 4 ข้อนี้เมื่อไหร่ ห้ามต่อเงินเดือนเด็ดขาด

1. พนักงานที่มีทางเลือก

หลังจากสัมภาษณ์แล้วคุณอยากจะได้คนคนนี้มาทำงานมาก แต่ไม่มั่นใจว่าจะต่อเงินเดือนเขาดีหรือไม่ ให้ดูก่อนว่าเขามีทางเลือกไหม คุณสมบัติแบบนี้มีคนต้องการตัวอีกรึเปล่า อาจจะสอบถามว่าเขาได้ไปสัมภาษณ์ที่ไหนมาบ้างหรือไม่ ตรง ๆ ไปเลย จะช่วยให้รับรู้ได้ว่าคุณควรจะปฏิบัติกับเขายังไง คนที่มีทางเลือกจะไม่ง้อบริษัทคุณแน่นอน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของคนทำงานส่วนใหญ่ก็คือเรื่องของเงินเดือน ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าคนนี้โอเค คุณต้องการเขา แต่เขามีทางเลือกให้ไป อย่าได้ต่อเงินเดือนเขาเด็ดขาด

2. พนักงานที่มีเหตุผลในการขอ

เมื่อคุณสัมภาษณ์มาได้ที่แล้ว และกำลังเข้าสู่ประเด็นเรื่องเงินเดือน พนักงานที่คุณต้องการตัวตรงหน้า เขาเหมาะสมกับเงินเดือนที่ขอหรือไม่ หรือควรจะถูกต่อรองเงินเดือนลงไปสักหน่อย ให้สังเกตว่า เขามีเหตุผลรองรับกับเงินเดือนจำนวนนี้ที่ขอหรือเปล่า เพราะการจ้างใครสักคนเข้ามาคุณต้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับการจ้างงานครั้งนั้น ดังนั้นต้องเลือกคนที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปที่สุด

ลองถามไปเลยทันทีว่า ทำไมถึงคิดว่าตัวเองเหมาะสมกับเงินเดือนตัวเลขนี้ ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาจะช่วยอะไรคุณได้บ้าง คิดว่าจะทำให้บริษัทคุณพัฒนาไปได้ยังไง คำถามเหล่านี้จะช่วยวัดใจว่าเขาเหมาะสมกับเงินเดือนนี้หรือไม่ และคุณควรจะต่อรองเงินเดือนกับเขารึเปล่า

3. พนักงานที่มีงานประจำอยู่

ทางหนีทีไล่ของพนักงานเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ส่วนใหญ่แล้วถ้าคนที่คุณสัมภาษณ์เขายังคงทำงานประจำอยู่ โอกาสต่อรองเงินเดือนก็จะลดน้อยลง เพราะถ้าเงินเดือนที่คุณจะให้มันไม่ได้มากกว่าที่เก่ามากจริง ๆ พนักงานก็คงไม่อยากมาทำงานที่ใหม่ เพราะมันมีความเสี่ยงที่เขาต้องแบกรับอยู่มากมายเต็มไปหมด ทั้งความเสี่ยงในการเดินทางที่ว่ารถจะติดมากกว่าเดิมหรือไม่ ทั้งความเสี่ยงในเรื่องของการทำงานที่อาจจะทำได้ไม่เต็มที่กับงานรูปแบบใหม่ ๆ และความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือ การเข้ากันดีกับเพื่อนร่วมงานหน้าใหม่

สิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้พนักงานที่คุณสัมภาษณ์ไม่อยากมาทำงานกับคุณ ถ้าคุณยังคงต่อรองเงินเดือนเขาอยู่ เพราะเขายังไม่จำเป็นต้องรีบหางานใหม่ให้ไวที่สุด เนื่องจากยังมีงานเก่ารองรับนั่นเอง

4. พนักงานที่เติมเต็มตำแหน่งที่คุณขาด

พนักงานส่วนใหญ่จะรู้ตัวว่าตัวเองมีดียังไง อะไรคือจุดเด่นของพวกเขา ทำให้รู้ลิมิตในการเรียกเงินของตัวเอง ซึ่งบางคนก็จะยอมรับในการต่อรองเงินเดือนของคุณ แต่ถ้า ณ ตอนนั้นบริษัทคุณเองกำลังขาดแคลนพนักงานอยู่พอดีในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง คุณไม่ควรจะต่อรองเงินเดือนกับพนักงานคนดังกล่าวเด็ดขาด

เพราะการต่อรองเงินเดือนมีสิทธิ์ที่จะทำให้เขาไม่พอใจ และไม่อยากร่วมงานกับคุณ สถานการณ์ในออฟฟิศคุณที่กำลังต้องการคนงานอย่างเร่งด่วน ควรหาพนักงานที่เก่ง มีฝีมือ มาเติมเต็มให้เร็วที่สุด ดังนั้นอย่าต่อรองเงินเดือนในตอนที่ตัวเองกำลังวิกฤต ยอมเสียเงินตามฐานเงินเดือนที่คุณรับได้ ดีกว่าทำให้งานเสียหายจนธุรกิจเสียชื่อเสียง