ดูชัด ๆ พนักงานคนไหนควรเก็บไว้ คนไหนควรปล่อยทิ้ง ภายหลังการประเมิน


ขึ้นชื่อว่าพนักงานเงินเดือน แน่นอนว่าไม่ว่าใครต่างก็อยากจะทำงานเพื่อแลกกับตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น หรือเงินเดือนที่มากขึ้นอย่างแน่นอน และสิ่งเหล่านั้นล้วนผกผันตามความสามารถ การทำงาน กระบวนการคิดของพวกเขาทั้งสิ้น

ซึ่งมันเป็นหนึ่งในความลำบากใจ และความยากของคุณในฐานะผู้ประกอบการ ที่จะต้องคอยสอดส่องว่า พนักงานคนไหนเหมาะกับการเก็บไว้ คนไหนเหมาะกับการขึ้นเงินเดือน เลื่อนขั้น หรือคนไหนที่ไม่ควรเอาไว้ในบริษัท

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้จะเริ่มต้นเรื่องราวเหล่านี้ยังไง ลองใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ในการพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ของพนักงานแต่ละคนดู รับรองว่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้นแน่นอน

4 หลักเกณฑ์ใช้ในการประเมินลูกน้องในสังกัดของคุณ

มีหลักฐานชัดเจนตรวจสอบได้

อันดับแรกพนักงานที่ควรจะได้รับการโปรโมท หรือมีสถานะในการทำงานที่ดี ก็คือคนที่ต้องตรวจสอบได้ มีการเก็บหลักฐานการทำงานต่าง ๆ อย่างชัดเจน มีข้อมูลอ้างอิงว่าเขาสามารถทำงาน หรือรับมือกับปัญหาได้ดี ตรงนี้ไม่ยาก เพราะคุณสามารถดูได้จากผลงานที่ผ่าน ๆ มาของเขา ว่าเขาทำอะไรประสบความสำเร็จไปมากน้อยแค่ไหน ใครรับหน้าที่ดูแลรับผิดชอบส่วนไหน และทำออกมาได้ดีมากเพียงใด ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันตั้งแต่ตอนนี้ และตัดสินอีกทีช่วงจบไตรมาส หรือสิ้นปีนั่นเอง

พัฒนาตัวเองให้เห็นตลอด

แม้พนักงานคนหนึ่งจะเคยทำผิดพลาดในเรื่องใดมาก็ตาม แต่ถ้าเขาพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น เก่งขึ้น หรือก้าวข้ามข้อผิดพลาดเดิม ๆ ไป และไม่ให้มันเกิดซ้ำอีก ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่น่าจะเก็บเขาเอาไว้แทนที่จะไล่เขาออกไป เพราะแน่นอนว่าพนักงานใหม่ที่เข้ามาแทนก็มีโอกาสจะผิดพลาดในข้อเดียวกันได้ การเก็บคนที่มีพัฒนาการไว้ จะช่วยให้คุณเบาใจได้ว่าความผิดเดิม ๆ จะไม่เกิดขึ้นให้ปวดหัวอีกแน่นอน

ควบคุมอารมณ์ได้ ยอมรับทุกการแนะนำ

คนที่คุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ คอยจะเถียง หรือไม่รับฟังความคิดเห็นแนะนำ นั่นจัดเป็นคนที่รับมือด้วยได้ยากมาก เพราะคุณจะไม่สามารถแนะนำอะไรเขาได้เลย ต่อให้สิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม พนักงานทุกคนควรฟังคำสั่งของคุณเป็นสำคัญ และไม่ควรตั้งแง่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ การมีปัญหากระทบกระทั่งกันบ่อย ๆ ไม่ใช่แค่กับคุณ แต่นั่นหมายถึงเขาอาจจะทำอย่างนั้นกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในการทำงานแย่ลง ส่งผลให้พนักงานคนอื่น ๆ อาจจะลาออกแทนถ้าคุณยังคงเก็บเขาเอาไว้

เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป 

การเชื่อตัวเอง มั่นใจในตัวเอง เป็นเรื่องดีที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือการตัดสินใจที่เด็ดขาด แต่การมีความมั่นใจมากเกินไปก็เป็นดาบสองคมที่จะทำให้เขามองไม่เห็นข้อเสียของตัวเอง และไม่ฟังคำแนะนำของคนอื่นเท่าที่ควร เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแนะนำสิ่งใดไป แต่พนักงานยังคงใช้วิธีเก่า ทำแบบเดิม ๆ อยู่ เมื่อนั้นต้องมีการเรียกคุย และถ้าเขายังไม่ปรับปรุงก็อาจจะต้องแยกทางกันในที่สุด

ข้อควรระวังสำหรับการประเมินงานของหัวหน้า

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมองเห็นถึงข้อดี ข้อเสีย ของพนักงานสักคนแล้ว การประเมินงานก็จะง่ายขึ้น แต่สิ่งที่หัวหน้าส่วนใหญ่ตกม้าตายกันก็คือ ไม่เอาผลงานตลอดทั้งไตรมาส หรือทั้งปีมาประเมิน แต่กลับใช้ช่วงเวลา ณ ตอนนั้นประเมินแค่เพียงอย่างเดียว มันทำให้การทำงานที่ผ่านมาไร้ความหมายไปทันที

เช่น คุณมีการประเมินงานทุก ๆ 3 เดือน ใน 2 เดือนแรก พนักงาน A อาจจะทำงานได้ดีมากเกินกว่าเป้าที่คุณตั้งไว้ แต่เมื่อเข้าเดือนที่ 3 เขามีเหตุผลมากวนใจมากมาย อาจจะปัญหาสุขภาพ เรื่องครอบครัว หรือปัจจัยต่าง ๆ ทำให้การทำงานบกพร่อง ผลงานย่ำแย่ ซึ่งมันตรงกับช่วงวลาในการประเมินของคุณพอดี

หัวหน้าส่วนใหญ่จึงประเมินนาย A ให้ออกมาแย่ ไม่ผ่านเกณฑ์ โดยลืมดูไปว่าก่อนหน้านั้นเขาทำดีมามากแค่ไหน และเหตุผลที่แย่มันเกิดจากอะไร ซึ่งคุณควรจะเรียกคุย สอบถาม และวัดผลงานจากภาพรวมเพื่อป้องกันการผักชีโรยหน้าของพนักงานคนอื่น ๆ และวัดผลจากการกระทำทั้งหมดเพื่อดูว่าใครเหมาะสมสำหรับการเก็บไว้ หรือไล่ออกที่สุด