วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทยมีอัตราเติบโตต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557-2561) ค่าจีดีพีของ SMEs มีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.2 ต่อปี ซึ่งมีการเติบโตสูงกว่าจีดีพีของประเทศที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยในปี พ.ศ.2561 ขนาดของ SMEs มีมูลค่ากว่า 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ และการจ้างงานของ SMEs ในประเทศไทยมีสัดส่วนสูงถึง 13.95 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.5 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ
การเติบโตของ SMEs ในไทย มีแนวโน้มที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้สูงกว่าร้อยละ 50 สะท้อนให้เห็นว่า SMEs ไทยมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและจะมีบทบาทยิ่งขึ้น หากได้รับการพัฒนาและสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในกิจการ
ในฝั่งของตลาดทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนที่เน้น Market Capital For All เพื่อเปิดทางให้ผู้คนในทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดทุน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสนับสนุนให้ SMEs ที่มีคุณภาพ สามารถเข้าระดมทุนในตลาดทุนได้
ที่ผ่านมา SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดทุนได้ เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีหลักการและกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เข้มข้น และมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์เดียวสามารถใช้กับกิจการทุกขนาด (One Fits for All) จึงไม่เอื้ออำนวยสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้จัดทำข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) 100 อันดับ หรือที่เรียกว่า ESG100 List นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 และเป็นผู้ริเริ่มจัดทำดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์คุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG ในปี พ.ศ.2561 มีแนวคิดที่จะใช้แนวทางการยกระดับการพัฒนาด้วยการจัดทำทำเนียบและดัชนีดังกล่าว มาขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่ม SMEs ด้วยการจัดทำ SME100 List และ Thaipat SME Index เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนและการระดมทุนสำหรับ SMEs
ปัจจุบัน สถาบันไทยพัฒน์ กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเกณฑ์ในการคัดเลือก SMEs โดยหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือกที่ให้น้ำหนักความสำคัญ คือ SMEs ที่มีตราสินค้า (Brand) เป็นของตนเอง ซึ่งจะมีการพิจารณาในหมวดที่เป็นองค์ประกอบ (Elements) 5 ด้าน และในหมวดที่เป็นมิติ (Dimensions) 5 ด้าน ได้แก่
องค์ประกอบ 5 ด้าน ประกอบด้วย องค์ประกอบด้านสิ่งที่จับต้องได้ (Tangible Elements) องค์ประกอบด้านคุณภาพ (Quality Elements) องค์ประกอบด้านนวัตกรรม (Innovation Elements) องค์ประกอบด้านบริการ (Service Elements) และองค์ประกอบด้านสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Elements)
มิติ 5 ด้าน ประกอบด้วย มิติด้านกฎหมาย (Legal Dimension) มิติด้านลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอื่น (Customer/Other Stakeholder Dimension) มิติด้านตลาด (Market Dimension) มิติด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมือง (Economic and Political Environment Dimension) และมิติด้านการเงิน (Financial Dimension)
สำหรับ SMEs ที่สนใจ โปรดติดตามความคืบหน้าของโครงการ และการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทำเนียบ SMEs ในปี พ.ศ.2563 นี้ ครับ