แนวคิด Social Business ที่ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส เป็นผู้ริเริ่มขึ้น บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มิใช่เรื่องใหม่ในแวดวงของการประกอบการเพื่อสังคม
ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของยูนุส ประเภทแรก เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมโดยบุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป ที่ไม่มีการปันผลกำไรคืนกลับแก่ผู้ถือหุ้น (กำไรทั้งหมดที่ได้ จะนำมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อ) ประเภทที่สอง เป็นการดำเนินธุรกิจโดยผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่มีการปันผลกำไร โดยการปันผลกำไรนั้น ถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม สมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง
ในระยะหลัง แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเอกชน และได้มีการนำมาขับเคลื่อนโดยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในประเทศไทย ยูนุส ได้เข้ามาผลักดันให้หน่วยงานทั้งในภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาที่มีความสนใจในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งเป็นองค์กร ยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการเผยแพร่แนวคิดและผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ความริเริ่มหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 นี้ จะเป็นการนำเอาแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม มาขับเคลื่อนโดยภาคองค์กรที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า “Corporate Social Business” โดยมุ่งเน้นการใช้แกนหลักของธุรกิจ (Core Business) มาดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือ หรือใช้แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์กร
แนวคิดนี้ ดัดแปลงมาจากความริเริ่ม Corporate Action Tank ที่ยูนุส ริเริ่มในประเทศฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิล ก่อนหน้านี้
ตัวอย่างของการใช้ Core Business ที่ บริษัท เรโนลต์ (Renault) ใช้ดำเนินการตามแนวคิด Social Business ได้แก่ ธุรกิจเพื่อสังคม เรโนลต์ โมบิลิซ (Renault Mobiliz) ที่ร่วมกับอู่ซ่อมรถในเครือข่ายให้บริการแก่ลูกค้าที่มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยพาหนะ (ไม่จำกัดยี่ห้อ) ในการประกอบอาชีพ ในอัตราค่าบริการที่มีส่วนลด 30% – 50% ด้วยคุณภาพเดียวกับการซ่อมบำรุงปกติ โดยคิดค่าอะไหล่และค่าแรงในราคาทุน
บริการ เรโนลต์ โมบิลิซ ในประเทศฝรั่งเศส เริ่มในปี ค.ศ.2012 โดยทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ (อาทิ Pôle Emploi) และภาคประชาสังคม (Restaurants du Cœur, ADIE ฯลฯ) ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับบริการจากอู่ซ่อมรถในเขตพื้นที่ใกล้ผู้รับบริการ ปัจจุบัน มีอู่ซ่อมรถที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 360 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะขยายให้ได้ 500 แห่ง เพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายจำนวน 10,000 ราย ภายในปี ค.ศ.2020
รูปแบบ Corporate Social Business เป็นมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) และมีความยั่งยืนในตัวเอง เนื่องจากไม่ใช่รูปแบบของการบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในแบบให้เปล่า แต่เป็นการทำธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยมีความมุ่งประสงค์ทางสังคม (Social Purpose) เป็นตัวตั้ง ก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนในกระบวนการสืบเนื่องต่อไป (Going Concern) เมื่อเทียบกับการบริจาคที่มีวันสิ้นสุดหรือต้องมีการยุติกิจกรรมในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า
ด้วยรูปแบบนี้ องค์กรไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งกิจการขึ้นมาแต่ต้นเพื่อดำเนินการ โดยที่โมเดลธุรกิจยังไม่มีความชัดเจนหรือยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ ครั้นเมื่อแน่ใจแล้วว่า โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมนั้นไปต่อได้ การพิจารณาว่าจะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมรองรับหรือไม่ จะเกิดขึ้นภายหลัง ทำให้ความเสี่ยงที่กิจการซึ่งตั้งขึ้นใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จลดลง
การขับเคลื่อน Corporate Social Business จึงเป็นการย้ายจุดเน้นจากการสร้าง ‘กิจการ’ (Enterprise) เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม มาสู่การสร้าง ‘ธุรกิจ’ (Business) เพื่อสังคม ที่พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า มีศักยภาพที่จะเติบโตหรือสามารถพัฒนาในระดับที่จะสร้างกิจการขึ้นมารองรับต่อไปได้
ในปี ค.ศ.2020 นี้ แนวคิดในการขับเคลื่อน Corporate Social Business จะเป็นวาระใหม่แห่งความยั่งยืน หรือ The New Sustainability Agenda ที่กิจการขนาดใหญ่ สามารถนำไปใช้ให้เกิดเป็นคุณค่าหรือผลได้ทางตรงแก่สังคมกลุ่มเป้าหมาย โดยมีคุณค่าหรืออานิสงส์ที่ย้อนกลับมาสู่ธุรกิจเป็นผลพลอยได้