ไทยติด Top 10 ประเทศชั้นนำด้านโลจิสติกส์ของโลก


อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย และเวียดนาม ติดอันดับกลุ่มประเทศชั้นนำในดัชนีด้านโลจิสติกส์ระดับโลก หรือดัชนี Agility Emerging Markets Logistics Index ประจำปีที่ 11 ซึ่งเป็นดัชนีวัดศักยภาพทางการแข่งขันเมื่อประเมินจากจุดแข็งด้านระบบโลจิสติกส์และคุณสมบัติพื้นฐานในการทำธุรกิจ

ภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและข้อได้เปรียบสำคัญ ทำให้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศอยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนี โดยเป็นรองยักษ์ใหญ่อันดับ 1 อย่างจีน และอันดับ 2 อย่างอินเดีย

ดัชนีดังกล่าวได้จัดอันดับประเทศทั้งหมด 50 ประเทศ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่ดึงดูดผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์, ตัวกลางระหว่างผู้นำเข้าและส่งออก, สายการเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์, ผู้ดำเนินการขนส่ง และผู้กระจายสินค้าทางอากาศ ในกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย (อันดับ 4) มาเลเซีย (อันดับ 5) ไทย (อันดับ 9) และเวียดนาม (อันดับ 11) มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 22 ในดัชนี้ปีนี้

ท่ามกลางสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามได้เลือกเวียดนามเป็นประเทศที่บริษัทจะย้ายไปหากต้องหยุดดำเนินกิจการในจีน เมื่อปีที่แล้ว ผู้ประกอบอาชีพด้านโลจิสติกส์ 56% ระบุว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ในปี 2020 นี้ สัดส่วนของผู้ที่ตอบเช่นนั้นได้ลดลงเหลือ 42%

Andy Vargoczky รองประธานอาวุโสฝ่ายการขายและการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Agility GIL ชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพึ่งพาตลาดส่งออกในยุโรปและอเมริกาเหนือน้อยลง เนื่องจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการพัฒนา บูรณาการ และบริโภคสิ่งที่ประเทศตนเองผลิตมากขึ้น และหันไปพึ่งพาภาคบริการกันมากขึ้นจนเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

“กลุ่มประเทศอาเซียนทำได้ดีแม้จะอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนระดับโลกเช่นนี้” Vargoczky กล่าว “อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ล้วนเป็นกลุ่มประเทศที่ติด 10 อันดับแรกหรือไม่ก็เกือบติด และจะยิ่งทวีความสำคัญในอุปทานโลกและห่วงโซ่คมนาคมมากขึ้น”

การสำรวจความคิดเห็นประจำปีของผู้ประกอบอาชีพในห่วงโซ่อุปทาน 780 รายโดย Agility ได้สะท้อนให้เห็นความคาดหวังโดยรวมในแง่ลบต่อเศรษฐกิจโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 64% ระบุว่า มีแนวโน้มจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลก ขณะที่ผู้บริหารเพียง 12% ระบุว่าไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยดังกล่าว แรงกดดันที่ทำให้ปริมาณการค้าของโลกลดลง แนวโน้มการเติบโตที่ไม่แน่นอน ตลอดจนสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงดำเนินไป ต่างมีส่วนส่งเสริมมุมมองเช่นนี้

อ้างอิง: