“GC จับมือ GPSC เปิดตัวระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ ใหญ่สุดในไทย


แนวทางสู่ความยั่งยืน! GC ร่วมกับ GPSC เปิดใช้งานระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ Smart Energy Storage System ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน

เมื่อวันที่ (18 ก.พ.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดใช้งานระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy Storage System (ESS) ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นระบบการสำรองไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความมั่นคงและประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าที่ป้อนให้แก่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ของ GC ในจังหวัดระยอง โดยจะสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึง 520,000 หน่วยไฟฟ้า หรือคิดเป็น 8.7% ต่อปี โดยมีแผนในการขยายผลไปสู่สถานประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานของประเทศ

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ให้ความสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนภายในองค์กร รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างคุ้มค่า สำหรับความสำเร็จในการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy Storage System (ESS) ระหว่าง GC และ GPSC ที่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Science & Innovation Center) ของ GC ในจังหวัดระยอง ถือเป็นต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานของ กลุ่ม ปตท.

 

 

โดย ESS จะเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas Engine) ของ GC ซึ่งส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของอาคารสำนักงานได้ โดยคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้ถึง 520,000 หน่วยไฟฟ้า หรือคิดเป็น 8.7% ต่อปี

“การนำระบบ ESS มาใช้ เป็นการควบคุมการจัดเก็บและการปลดปล่อยพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการกักเก็บพลังงานที่เหลือใช้จากระบบผลิตไฟฟ้าจาก (Gas Engine) กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ (MW) ที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในอาคารสำนักงาน มากักเก็บไว้ในระบบ ESS ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ โดยไฟฟ้าที่กักเก็บไว้ใน ESS ยังสามารถสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ช่วงฉุกเฉินกรณีไฟฟ้าตกหรือดับ ทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงมีความสามารถในการป้อนไฟฟ้าเข้าสู่อาคารศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และเป็นการบริหารจัดการพลังงานในอาคารฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ซึ่ง โครงการนี้ยังจะช่วยเสริม Reliability ของระบบไฟฟ้าหลักได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนนโยบายของ GC ในด้าน ความยั่งยืน (Sustainability) ในส่วน Smart Operating ที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการการใช้พลังงานและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการตัวอย่างที่สามารถนำมาใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเสริมประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง (Reliability) ของระบบไฟฟ้าหลัก รวมไปถึงนโยบายด้านดิจิทัล (Digitalization)

โดยการนำข้อมูลมาใช้เพื่อวิเคราะห์ (Data Analytic) ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา โดยควบคุมบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดเวลาด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ ทั้งนี้ GC มีแผนงานที่จะขยายการติดตั้งระบบ ESS ไปยังโรงงานปิโตรเคมีของ GC Group เพื่อส่งเสริมให้โรงงาน มี Reliability ที่ดีต่อไป” ดร.คงกระพัน กล่าว

ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยถึงความร่วมมือในโครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Storage System: ESS) กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ว่า GPSC ได้ออกแบบและติดตั้ง ESS ให้มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานขนาด 1.5 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ซึ่งนับเป็นระบบสำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โดยโครงการนี้ มุ่งหมายให้เป็นโครงการต้นแบบการกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพสูง ดังนั้น ในอนาคตจะมีการขยายการนำ ESS ไปใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในระบบไฟฟ้าให้กับ กลุ่ม ปตท. และผู้สนใจรายอื่นๆ ต่อไป รวมถึงยังสามารถใช้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน เพื่อให้สามารถประหยัดพลังงานได้สูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“อาคารสำนักงานของ GC มีขนาดความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 0.75 เมกะวัตต์ ซึ่งระบบ ESS ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตไฟฟ้าจาก Gas Engine ซึ่งทำให้ Gas Engine ผลิตไฟฟ้าที่ Rated Capacity ได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการนำพลังงานที่ถูกกักเก็บดังกล่าวมาใช้ในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารศูนย์นวัตกรรม ดังกล่าวได้ ในขนาด 0.25 เมกะวัตต์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายชวลิต กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการร่วมกันของทั้ง 2 บริษัท ได้ร่วมกันลงทุน โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถสร้างความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง นับเป็นหนึ่งในโซลูชั่นด้านการบริหารจัดการพลังงาน ที่เพิ่มศักยภาพสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร ที่มุ่งไปสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน