บุคคลชลประทาน สัญชัย บัวทรง นายช่างศิลป์ชำนาญงาน ผู้สร้างชื่อเสียงให้กรมชลประทานด้วยศิลปะ


ว่ากันว่า “ศิลปะ” เป็นการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ที่สื่อออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่มีการจำกัดรูปลักษณ์ที่ตายตัว บ้างก็ออกมาจากมโนภาพ บ้างก็ออกมาจากตรรกะส่วนตัวของผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด เช่นเดียวกับ นายสัญชัย บัวทรง นายช่างศิลป์ชำนาญงาน สำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ผู้ชายที่มีบุคลิกพูดไม่เก่ง มีวิถีชีวิตที่แสนเรียบง่าย แต่สามารถอธิบายจินตนาการอันบรรเจิดด้วยศิลปะได้อย่างไหลลื่น

“วัย” เสียสละ

สัญชัย เล่าว่า พื้นเพเดิมเขาเป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีพี่น้อง 3 คน ประกอบด้วยสัญชัย พี่สาว และน้องชาย แม้ตามลำดับสัญชัยจะเป็นลูกคนรอง แต่ด้วยสถานะทางบ้านแล้วเขาถือเป็นพี่ชายคนโตของบ้าน เป็นบุตรคนแรกที่พ่อและแม่เลือกที่ให้ออกมาประกอบอาชีพพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือครอบครัว

“พอจบ ม.6 ฐานะทางบ้านผมไม่ค่อยดี พ่อจึงให้ผมหยุดเรียนเพื่อออกมาหางานทำ ให้พี่น้อง 2 คนได้เรียนหนังสือไปก่อน เมื่อพี่สาวเรียนจบผมจึงได้โอกาสมาเรียนภาคค่ำ โดยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เนื่องจากเป็นคนรักงานศิลปะจึงเลือกเรียนสาขาวิชาศิลปกรรม ออกแบบประยุกต์ศิลป์มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม”

รับราชการ เพื่อครอบครัว

พ.ศ. 2543 สัญชัยศึกษาจบระดับปริญญาตรี สำหรับเส้นทางการทำงานนั้นเขามีหลักคิดอย่างเดียวคือ ต้องหาอาชีพที่มั่นคงช่วยเหลือครอบครัว โดยนึกถึงบุญคุณพ่อและแม่เป็นลำดับต้น ๆพ่อแม่ทำงานหนักมาตั้งแต่เป็นหนุ่มสาวในยามชราพ่อแม่ย่อมเจ็บไข้ได้ป่วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจึงค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้เขาจึงเลือกประกอบอาชีพที่ต้องมีสวัสดิการดูแลครอบครัวได้ คือ “รับราชการ”

“พี่น้องผมเลือกทำงานในบริษัทเอกชน ทุกคนมีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลพ่อและแม่ก็อายุมากขึ้น ร่างกายจึงทรุดโทรมตามกาลเวลา เมื่อมีโอกาสผมจึงสอบเข้ารับราชการที่กรมชลประทาน ซึ่งคิดว่าที่แห่งนี้มีงานที่เหมาะกับความรู้ความสามารถของผม”

งานชิ้นแรกในรั้วชลประทาน

สำหรับงานแรกในฐานะนายช่างศิลป์ชำนาญงาน กรมชลประทาน สัญชัยเล่าว่า เขาได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมทีมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหน้าโบสถ์ จังหวัดนนทบุรี ที่อยู่ภายในกรมชลประทาน ปากเกร็ด สันนิษฐานว่าเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ทางกรมชลประทานจึงมีแนวคิดที่จะบูรณะวัดขึ้นใหม่
“ผมรับหน้าที่ในการออกแบบลายปูนปั้น สำหรับผมแล้วงานออกแบบลายปูนปั้นเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เพราะผมเรียนด้านประยุกต์ศิลป์ ซึ่งไม่ได้เจาะจงศิลปะแขนงใดแขนงหนึ่ง แต่สามารถทำงานศิลปะได้ทุกอย่าง สำหรับผลงานออกแบบลายปูนปั้นนับว่าเป็นที่ท้าทายและประทับใจผมอย่างมาก”

งานออกแบบที่ต้องเข้าถึงหัวใจของคอนเซ็ปต์

ภารกิจหลักของสัญชัยในรั้วกรมชลประทาน จะมีงานอยู่ 2 ประเภทคือ งานออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ และงานออกแบบบูธนิทรรศการ สำหรับงานออกแบบด้านสื่อประชาสัมพันธ์ สัญชัยเล่าว่า ต้องย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมัยนั้นส่วนประชาสัมพันธ์ กรมชลประทานยังไม่มีนายช่างศิลป์เป็นของตัวเอง กล่าวคือ สัญชัยซึ่งอยู่สำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมจึงได้รับมอบหมายหน้าที่ในการออกแบบมาโดยตลอด เช่น โปสเตอร์นิทรรศการป้ายไวนิล รวมถึงปกหนังสือ ผลงานที่เด่นชัดที่สุด คือ การออกแบบโลโก้วันสถาปนาครบรอบกรมชลประทาน ออกแบบมาตั้งแต่ครบรอบ 100 ปี จนถึง 116 ปี

“การออกแบบโลโก้วันสถาปนาครบรอบกรมชลประทานเป็นงานที่ต้องลงลึกในรายละเอียด ยกตัวอย่างโลโก้วันสถาปนาครบรอบ 116 ปี กรมชลประทาน คอนเซ็ปต์ คือ นโยบายกรม 7 ประการ การออกแบบผมจึงตกผลึกชิ้นงานออกมาเป็นรูปหยดน้ำแบ่งเฉดสีเป็นทั้งหมด 7 สี ตามภารกิจ 7 ด้าน เป็นสีรุ้งในหยดน้ำที่แฝงความเป็นชลประทานเป็นตามลักษณะของพญานาค ส่วนปีที่ผ่านมา คือครบรอบ 117 ปี เจ้าหน้าที่จากทางฝ่ายประชาสัมพันธ์เป็นผู้ออกแบบ”

ความภาคภูมิใจที่ไม่ลังเล

สัญชัยเล่าว่า งานที่เขาภาคภูมิใจที่สุดคือ การได้มีส่วนสำคัญในการเตรียมสถานที่รับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จทรงงาน ณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสด็จฯ ไปทรงงานที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

“ช่วงเวลานั้นสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่อนข้างมีความเสี่ยงในเรื่องความไม่สงบ แต่ด้วยภาระหน้าที่และไม่เคยคิดว่าตนเองจะได้มาทำงานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งผมตัดสินใจโดยไม่ลังเลเพื่อไปเตรียมงานรับเสด็จ ออกแบบภูมิทัศน์ตกแต่งสถานที่ ดูแลความเรียบร้อยอยู่นานร่วมเดือน เพราะรู้สึกว่าสิ่งนี้นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แล้ว”

สร้างชื่อเสียงให้กรมชลประทานด้วยงานถ่ายภาพ

ปัจจุบัน แม้ว่าสัญชัยจะมีภารกิจที่สำคัญมากมาย แต่โดยส่วนตัวแล้วเขามีสิ่งที่รักและความถนัดอีกอย่าง คือ “การถ่ายภาพ” ทุกวันนี้เขามีภาพเก็บสะสมไว้บันทึกความทรงจำมากมายสัญชัยอธิบายให้เห็นภาพว่าเขาชอบภาพแนวท่องเที่ยวมาก เพราะทุกครั้งที่ออกไปท่องเที่ยวจะได้เห็นวิถีชีวิตของคน เมื่อเรามองเข้าไปผ่านเลนส์กล้อง จะสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตคนท้องถิ่นที่แฝงไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมโบราณ รู้สึกว่ามันมีคุณค่า และหลายครั้งที่เขาส่งรูปเข้าประกวดในงานระดับประเทศต่าง ๆ ก็จะได้รับรางวัลมาให้ชื่นใจอยู่เสมอ

“ผมถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกและส่งภาพเข้าประกวดในรายการต่าง ๆ บ้างผมจะประกวดโดยในนามส่วนตัว แต่สำหรับความรู้สึกแล้ว ผมคิดว่าการถ่ายภาพก็เป็นอีกช่องทางที่สร้างชื่อเสียงให้กรมชลประทาน ผมได้รับรางวัลมามากมายหลายร้อยรางวัล ทุกรางวัลมีความหมาย ผลงานที่ผมตื้นตันใจที่สุดเช่น รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถหัวข้อ “งานศิลป์เป็นศรีฝีมือสยาม”ตามโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินครั้งที่ 2 และอีกรางวัลคือ รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในชีวิตของผมเลย”

ท้ายนี้ มีประโยคที่อยากจะส่งต่อถึงข้าราชการกรมชลประทาน “งานศิลปะและการถ่ายภาพไม่ได้จำกัดเรื่องของอายุ เราสามารถสร้างงานศิลปะหรือการถ่ายรูปเป็นงานอดิเรกได้นอกจากงานประจำที่ทำอยู่ การเรียนรู้จะทำให้เราได้พบเจอสิ่งใหม่ นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้”