คาดสภาวะ New Normal สร้างการแข่งขันที่ยากและรุนแรงขึ้น อาจส่งผลตลาด E-Commerce ชะลอตัว


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การดำเนินธุรกิจค้าปลีกภายใต้สภาวะ New Normal แม้ว่าส่วนหนึ่งจะกระตุ้นให้ตลาดค้าปลีกออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการต่างก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและยากลำบากมากขึ้น

โดยเฉพาะผู้ประกอบการ E-Market place ต่างชาติ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง นั่นคือภายหลังจากการเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ E-Market place ต่างชาติ ซึ่งเน้นจำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็น (Non-food) อย่างสินค้าแฟชั่น, เฟอร์นิเจอร์, ของตกแต่งบ้าน, อุปกรณ์ไอที และของใช้ในครัวเรือน ต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันรอบด้าน

กำลังซื้อที่อ่อนแรงของผู้บริโภค

กำลังซื้อที่ยังอ่อนแรงอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภค และคาดว่าจะยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น หรือเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น สินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นกลุ่ม Non-food จึงเป็นสินค้าที่คาดว่าผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายลง และน่าจะได้รับผลกระทบที่มากกว่าสินค้ากลุ่มอาหาร (Food) และสินค้าอุปโภคบริโภคหรือของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน (Fast-moving consumer goods: FMCG)

 

 

การแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มสินค้า Non-food

เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มสินค้า Non-food กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสินค้าเฉพาะ (Specialty store) ที่มี Website หรือ Brand ของตนเอง เช่น ร้านค้าปลีกเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที ของใช้จำเป็นภายในบ้าน

ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้เร็ว อีกทั้งยังอาศัยความน่าเชื่อถือของแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ควบคู่กับการจัดทำโปรโมชั่นและยกระดับคุณภาพของการให้บริการที่ดีสม่ำเสมอในการแย่งชิงกำลังซื้อของลูกค้า เช่น ลดราคาสินค้า ผ่อน 0% ที่ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดส่งสินค้าฟรี รวมถึงการเอาใจใส่ลูกค้า บริการหลังการขาย มีการสื่อสารและสามารถตอบคำถามลูกค้าได้เร็ว รวมถึงการเชื่อมโยงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของลูกค้าผ่านช่องทาง Online to Offline (020) ทำให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกสบายและมั่นใจมากขึ้น

 

 

มีโอกาสน้อยในการเจาะตลาดกลุ่มอาหาร (Food) และอุปโภคบริโภค (FMCG)

โอกาสเจาะตลาดสินค้ากลุ่มอาหาร (Food) และอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่จำกัดลงมาก เพราะบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก Modern trade อย่างพวกซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ต่างโหมเข้ามาทำการตลาดในกลุ่มสินค้านี้บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างรวดเร็ว

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้าหลังเกิดโควิด-19 สินค้ากลุ่มอาหารและอุปโภคบริโภคจะขึ้นมามีบทบาทในตลาดค้าปลีกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการที่ผู้ประกอบการ E-Market place ต่างชาติ ไม่สามารถขยายผลิตภัณฑ์มาครอบคลุมสินค้ากลุ่มนี้จนสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันกลับถูกคู่แข่งที่สำคัญอย่างกลุ่ม Modern trade รายใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 และคาดว่าผู้ประกอบการค้าปลีก Modern trade จะยังคงเร่งปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจบนแพลตออนไลน์ชัดเจนขึ้นอีก

แนวโน้มดังกล่าว ทำให้คาดว่าผู้ประกอบการค้าปลีก Modern trade จะกลายเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทมากขึ้นในสินค้ากลุ่มนี้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ประกอบการ E-Market place ต่างชาติ จะขยายตลาดมาครอบคลุมสินค้ากลุ่มนี้ และอาจต้องเผชิญโจทย์การแข่งขันที่หนักเพิ่มขึ้น

 

 

บทบาทที่เปลี่ยนไปของ E-Market place ต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ภายหลังจากการเกิดวิกฤตโควิด-19 บทบาทของ E-Market place ต่างชาติ ในตลาดรวมของ E-Commerce น่าจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่คาดว่าจะมีความได้เปรียบและมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจจะเผชิญการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น และยังต้องทำการอัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มของตนเอง จึงคาดว่าผลประกอบการจะยังคงขาดทุนต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงนี้

ผลประกอบการของ E-Market place ต่างชาติ น่าจะยังคงขาดทุนต่อเนื่อง 30-40% ต่อปี เมื่อเทียบกับรายได้ในปี 2563-2565 และถือเป็นการขาดทุนมาโดยตลอดเฉลี่ย 46% ต่อปี เมื่อเทียบกับรายได้ นับตั้งแต่ปีที่ผู้ประกอบการ E-Market place กลุ่มดังกล่าวเริ่มเข้ามาลงทุนแพลตฟอร์มและทำตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทย

 

 

Social commerce เป็นกระแสระยะสั้น

ขณะที่ ผู้ประกอบการที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Social commerce ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก-รายใหญ่ รวมถึงผู้เล่นที่เดิมไม่ได้ทำธุรกิจค้าปลีก ที่ต่างก็เข้ามาเพื่อหาทางสร้างรายได้นั้น โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหม่ที่อยู่ในกลุ่มสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นรายย่อยที่เน้นขายสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารพร้อมทาน, อาหารสำเร็จรูป, อาหารแช่แข็ง, เครื่องดื่ม และสินค้าเกษตร

ในระยะสั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบจากโควิด-19 น่าจะทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีโอกาสทำรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายบน Social commerce ของกลุ่มสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นสีสันที่เกิดขึ้นในช่วงกักตัวหรือ Work from home มีการซื้อขาย ช่วยเหลือและอุดหนุนกันภายในกลุ่มพี่น้องร่วมสถาบัน หรือแม้แต่การช่วยเหลือและอุดหนุนสินค้าของกลุ่มเกษตรกรที่เกิดขึ้นในระยะสั้น

แต่ในระยะกลางถึงยาว ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ น่าจะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากคู่แข่งที่มีจำนวนมากราย บวกกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีจำกัด หากสินค้าและบริการไม่แตกต่างหรือปรับตัวไม่ทันตามความต้องการของผู้บริโภค ก็จะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงและยากลำบาก โดยผู้ประกอบการที่สร้างรายได้สุทธิไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้เล่นรายย่อย สุดท้ายอาจต้องออกจากธุรกิจไป

บทสรุป

แม้ว่าส่วนหนึ่งปัจจัยทางด้านโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดค้าปลีกออนไลน์โตขึ้นจากการเข้าสู่สภาวะ New normal แต่อีกส่วนหนึ่งก็กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัว และคาดว่าจะไม่กลับมาฟื้นตัวได้เร็วนัก จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและประหยัด เพราะไม่มั่นใจรายได้ของตนเองในอนาคต

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์ B2C E-Commerce (เฉพาะสินค้า) ในปี 2563 แม้ว่าจะยังคงขยายตัวราว 8-10% แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัวราว 20% หรือมีมูลค่าตลาดประมาณ 3.0-3.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.7% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวม

โดยกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน น่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากสภาวะ New normal ส่วนสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างกลุ่มแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแรง และคงใช้เวลาในการฟื้นตัวที่นานกว่าสินค้ากลุ่มอาหารและของใช้จำเป็น

อ้างอิง: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย