สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2563
โดยประเทศไทย มีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 77.233 มาอยู่ที่ 75.387 ส่งผลให้ผลการจัดอันดับของประเทศไทยลดลง 4 อันดับ จากอันดับที่ 25 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 29 ใกล้เคียงกับอันดับในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 30
ผลของปัจจัยหลักที่แบ่งเป็น 4 ด้านมีดังนี้
-ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ซึ่งดีขึ้น 4 อันดับ จากอันดับที่ 27 มาอยู่ที่อันดับ 23
-โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งดีขึ้น 1 อันดับ จากอันดับที่ 45 มาอยู่ที่อันดับ 44
-สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ลดลง 6 อันดับ จากอันดับที่ 8 มาอยู่อันดับที่ 14
-ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ลดลง 3 อันดับ จากอันดับที่ 20 มาอยู่อันดับที่ 23
สำหรับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ อีก 4 ประเทศ มีอันดับลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยมาเลเซียลดลง 5 อันดับอยู่ที่อันดับ 27 อินโดนีเซียลดลง 8 อันดับอยู่ที่อันดับ 40 ขณะที่ฟิลิปปินส์มีอันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ อยู่ที่อันดับ 45 ส่วนสิงคโปร์นั้นยังคงเป็น อันดับ 1 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับของไทยในภาพรวมลดลง เนื่องมาจากการถดถอยลงของสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ การขาดความสามารถในการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว อีกด้านหนึ่งก็คือประสิทธิภาพของภาครัฐ ซึ่งการถดถอยโดยหลักนั้นอยู่ที่กรอบนโยบาย กฎหมายและแนวทางการบริหารงานของสถาบันหลักต่างๆในการบริหารประเทศ รวมทั้งสถานะการคลังที่ถดถอยลง
อย่างไรก็ดีแม้อันดับโดยรวมของประเทศลดลง แต่ก็มีองค์ประกอบที่ดีขึ้นใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ในด้านแนวทางการบริหารและจัดการและทัศนคติและค่านิยมของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
ในขณะที่ด้านตลาดแรงงานเริ่มกลายเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ เช่น ประเด็นการผลิตแรงงานให้ตรงกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
นอกจากนั้นทุกภาคธุรกิจ ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ
ส่วนปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นั้น มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอันดับในทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย แต่คะแนนและอันดับขีดความสามารถโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำจึงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
การที่อันดับของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับในปี 2562 แล้วกลับลดลง 4 อันดับในปีนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างทันการณ์นั้นยังคงเป็นความท้าทายของประเทศไทยในระยะยาว
อ้างอิง: สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย