แบงก์ชาติวางมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมระยะที่ 2 ให้ธนาคารขยายวงเงินบัตรเครดิต ลูกหนี้ดีลดดอกเบี้ย-Cashback กลุ่ม NPL เลื่อนกำหนดชำระ ใช้โครงสร้าง “คลินิกแก้หนี้”
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ให้บริการทางเงินได้ให้ความร่วมมือ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ประกอบกับมาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้ จะทยอยสิ้นสุดลงในเดือนนี้ ธปท. จึงได้หารือกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สมาคมและชมรมของผู้ให้บริการทางการเงินรวม 9 แห่ง ได้ข้อสรุปร่วมกันว่ามีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 2 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องสำหรับใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมระยะที่ 2 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.การลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งจะมีผลช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของประชาชนรายย่อยหลายล้านรายและจะช่วยให้ผู้บริการทางการเงินมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน และมีผลกำไรที่เหมาะสมมากขึ้น
2.การขยายวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จากเดิมจะได้รับวงเงิน 1.5 เท่า ของรายได้ จะขยายเป็น 2 เท่า เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม
3.มาตรการพื้นฐานขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งได้ปรับปรุงจากความเห็นและข้อเสนอที่ได้รับฟังจากประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยครั้งนี้จะยึดเอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมทั้งขยายขอบเขตให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพราะคงไม่มีประชาชนกลุ่มใดที่ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่มีการจำกัดวงเงินสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์โดยผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องจัดให้มีทางเลือกเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเลือกได้ ตามประเภทสินเชื่อ ดังนี้
3.1 กลุ่มลูกหนี้ที่มีสถานะผ่อนชำระปกติ ยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นด้อยคุณภาพ (NPLs) ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563
เมื่อครบกำหนดตามมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการพื้นฐานขั้นต่ำระยะที่ 2 ซึ่งมาตรการข้างต้นเป็นเพียงมาตรการพื้นฐานขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เท่านั้น ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากที่กำหนดได้
สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ยังผ่อนชำระปกติ ผู้ให้บริการทางการเงินอาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามสมควร เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม หรือ การให้ Cashback เมื่อมีการผ่อนชำระเข้ามา เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้มีจ่ายชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญที่อยากจะเน้นคือ มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 จะต่างจากมาตรการช่วงแรกซึ่งผู้ให้บริการจะเป็นผู้พิจารณา แต่มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้ ลูกหนี้จะเป็นผู้เลือกเข้าร่วมมาตรการตามความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง โดยผู้ให้บริการทางการเงินจะยื่นข้อเสนอตามที่กำหนดไว้ในมาตรการพื้นฐานขั้นต่ำ และต้องอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอให้ลูกหนี้ใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น เปรียบเทียบภาระหนี้สินเดิมและหนี้ใหม่ จำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น จำนวนงวดที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพิ่มจากการขอพักชำระหนี้
การเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่คำนวณในช่วงมาตรการข้างต้น ทั้งกรณีพักชำระหนี้ และกรณีลดค่างวด ผู้ให้บริการทางการเงินจะตกลงร่วมกับลูกหนี้เพื่อหาวิธีการชำระหนี้ที่ไม่ก่อภาระมากเกินไป และต้องไม่ถือว่าการพักชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยตามมาตรการนี้เป็นเหตุแห่งการผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญา จึงไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัด เบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติมจากลูกหนี้ รวมถึง หากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ตามสัญญาภายใต้มาตรการที่ช่วยเหลือก่อนกำหนด จะต้องไม่เรียกเก็บเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee)
ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2563 ผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการทางการเงินเปิดให้บริการ เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ Call Center หรือการส่งข้อความ SMS
3.2 กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามมาตรการขั้นต่ำ รวมทั้งกลุ่มลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPL
ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระ และช่วยให้ลูกหนี้ฟื้นตัวกลับมาได้โดยเร็ว ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การเลื่อนกำหนดชำระหนี้หรือพักชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาชำระหนี้ การเปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว การปรับลดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมทั้งการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ ให้สามารถตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ยได้ตามความเหมาะสม หรือผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้อื่น เป็นต้น
สำหรับกลุ่มลูกหนี้ NPL ของหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ ให้ลูกหนี้เลือก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ในช่วงตั้งแต่ 1 กรกฎาคม -31 ธันวาคม 63 ผู้ที่มีหนี้เสียของบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด รวมทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สามารถปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ให้บริการทางเงินแต่ละรายได้เลย โดยจะได้รับข้อเสนอเช่นเดียวกับข้อเสนอของคลินิกแก้หนี้ที่จะ ให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 10 ปีและดอกเบี้ยในอัตราผ่อนปรน
นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการทางการเงินให้ชะลอการยึดทรัพย์ (ที่อยู่อาศัย หรือยานพาหนะที่ลูกหนี้ใช้สร้างรายได้) ออกไประยะหนึ่ง สำหรับลูกหนี้ที่สุจริตแต่อาจจะมีปัญหาการจ่ายหนี้โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด เพื่อให้ลูกหนี้ยังคงมีที่อยู่อาศัย มีรถใช้ทำมาหากิน และมีโอกาสที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
มองไปข้างหน้า การที่เจ้าหนี้ลูกหนี้สามารถตกลงปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น มีการสั่งการให้ผู้ให้บริการทางการเงินรายงานข้อมูลจำนวนลูกหนี้ที่มาขอปรับโครงสร้างหนี้ และจำนวนที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ ส่วนรายที่ไม่สำเร็จขอให้ระบุเหตุผล สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ให้บริการฯได้สำเร็จ สามารถส่งคำขอผ่านมาที่ช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” ใน www.1213.or.th ของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.
ธปท. เชื่อมั่นว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมระยะที่ 2 นี้ จะทำให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ ในขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินได้รับการชำระหนี้คืนอย่างเหมาะสม เป็นการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน