จับตา VDO Streaming War เมื่อ “Netflix – We TV” เปิดเกมไล่ล่าผู้ชมทุกมิติ


จากรายงานวิเคราะห์ตลาด VDO Streaming แบบ Over-the-Top TV ( OTT) ของสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. และข้อมูลการวิจัยล่าสุดของ Ovum บริษัทจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีจากประเทศอังกฤษ ได้สำรวจตลาดผู้ใช้บริการ OTT แบบลงทะเบียนเป็นสมาชิกในไทย โดยประมาณการณ์ว่าในปี 2562 มียอดผู้ใช้บริการประมาณ 1.3 ล้านรายเพิ่มขึ้น 18.80% จากปี 2561 ที่มียอดผู้ชมรวม 1.09 ล้านรายและจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านรายในช่วง 5 ปีหรือในปี 2566

 

 

ทั้งนี้ยังพบว่าไทยเป็นประเทศมีผู้ชมในกลุ่มบริการวีดิโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD หรือ Subscription Video on Demand หรือบริการรับชมทีวีออนไลน์ย้อนหลังแบบเรียกเก็บค่าสมาชิกในสัดส่วนที่สูงมาก โดยมีจำนวนสมาชิกในปี 2562 อยู่ที่ 1.13 ล้านราย และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.91 ล้านราย ในปี 2566

ขณะที่บริการแบบรับชมสดตามโปรแกรมที่ออกอากาศ SLIN หรือ Subscription Linear มีสัดส่วนไม่มาก โดยปี 2562 มีผู้ใช้บริการแบบรับชมสดอยู่ที่ 170,000 รายเท่านั้น คาดตัวเลขผู้ใช้บริการใกล้ระดับ 190,000 รายในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มอัตราการเติบโตที่สามารถจะทะยานขึ้นได้อีกมาก แต่ก็เป็นโอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทายที่สูงมากเช่นกัน เนื่องจากการแข่งขันขณะนี้เริ่มส่อเค้ารุนแรงขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดของแบรนด์ใหม่ ซึ่งแต่ละรายต่างโฟกัสในทุก ๆ มิติเพื่อขยายฐานสมาชิก ไม่ว่าเป็นการพัฒนาคอนเทนต์ให้หลากหลาย เข้าถึงง่าย, รูปแบบแพ็กเกจและราคา ฯลฯ

ทั้งนี้เพื่อให้ ผู้บริโภคมีความภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) เพราะจำนวนสมาชิกคือที่มาของรายได้โดยตรง ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการสูงและมีต้นทุนในการ Swiching Brand ต่ำมาก

 

 

Netfix เร่งผนึก“พันธมิตร”ขยายฐานตลาดท้องถิ่น

ปัจจุบัน VDO Streaming ในไทยมีเน็ตฟลิกซ์เป็นผู้นำตลาดแม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขด้านผลประกอบการในไทยที่ชัดเจน แต่จากข้อมูลของสตาทิสต้า (Statista) คาดว่าเน็ตฟลิกซ์ในไทยอาจมีผู้ชมถึง 8 แสนคน ขณะที่ด้านรายได้นั้น www.comparitech.com คาดการณ์ว่าปี 2562 น่าจะมีรายได้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์

โดยยุทธศาสตร์หลักของเน็ตฟลิกซ์คือ“ออริจินัล คอนเทนต์” สะท้อนได้จากเอกสารข้อมูลทางการเงินนับถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 พบว่าเน็ตฟลิกซ์ทุ่มลงทุนด้านคอนเทนต์มากกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในตลาดของผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกในอนาคต โดยที่ผ่านมาเน็ตฟลิกซ์มีอัตราการลงทุนด้านออริจินัล คอนเทนต์ เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2558 เฉลี่ยปีละ 34% โดยช่วยแรกของการทำตลาดในไทยส่วนใหญ่ออริจินัล คอนเทนต์จะเป็นซีรีส์และภาพยนตร์จากฝั่งตะวันตก

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Netflix

 

แต่ปัจจุบันออริจินัล คอนเทนต์ ได้ถูกนำมาปรับเป็นเครื่องมือในการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายในแต่ประเทศที่เน็ตฟลิกซ์เข้าทำตลาด ด้วยโมเดล“Open Ecosystem”ผ่านการสร้างพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น (Local Partner) ในการพัฒนาเนื้อหาที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม บริบทของสังคมที่แตกต่างกันซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ โดยจะถ่ายทอดบนพื้นฐานที่ผู้ชมจากทั่วโลกสัมผัสได้ง่าย เนื่องจากเน็ตฟลิกซ์ให้บริการใน 190 ประเทศดังนั้นคอนเทนต์จึงควรจะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้ในระดับสากล

โดยในไทยเน็ตฟลิกซ์มีเครือจีเอ็มเอ็ม, ช่อง3 เป็นพันธมิตรในการนำคอนเทนต์เก่ามาลงจอ โดยจะมีการแปลซับไตเติลบรรยายทั้งในภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม มาเลย์ และอินโดนีเซีย (รวมถึงใส่ซับไทยเพื่อผู้ชมชาวไทย) นอกจากนี้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ยังเป็นผู้ผลิต Netflix Original Series รายสำคัญ “Mobile 99 บาท” ปิดจุดอ่อนเรื่องของราคาที่สูง

 

 

เป้าหมายของเน็ตฟลิกซ์ในปีนี้ 2563 คือการเพิ่มอัตราเร่งในการขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเจาะตลาดแมส (Mass) เนื่องจากเป็นคีย์สำคัญในการสร้างความได้เปรียบในภาวะที่คู่แข่งขันรายใหม่ ๆ เร่งจัดทัพเข้ามาชิงโอกาสและเป็นความได้เปรียบของเน็ตฟลิกซ์ที่อยู่ในตลาดมานานกว่าโดยล่าสุดนำได้นำแพ็กเกจ Mobile 99 บาทต่อเดือนเข้าสู่ตลาดสำหรับการชมผ่านสมาร์ทโฟนเท่านั้น

ซึ่งแพ็กเกจนี้จะทำตลาดเฉพาะบางประเทศ เช่น ไทย เนื่องจากคนไทยมีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนถึง 70% และมีพฤติกรรมการใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากอันดับต้น ๆ ของโลก ที่สำคัญคือคนไทยถึง 89% ใช้ดูคอนเทนต์สตรีมมิ่งผ่านสมาร์ทโฟนซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากและเป็นโอกาสที่ดีในการจะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่นิยมดูคอนเทนต์ผ่านสมาร์ทโฟนเท่านั้นเกมนี้เน็ตฟลิกซ์เล็งผลสำเร็จไปที่การขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆซึ่งยังมีอีกมากในไทย

ขณะเดียวกันยังเป็นการลดจุดอ่อนด้าน “ราคา” แพ็กเกจรายเดือนของเน็ตฟลิกซ์ที่สูงสุดในตลาด ด้วยการให้บริการที่อาจเกินความจำเป็น โดยแพ็กเกจราคาต่ำสุด 297 บาทต่อเดือนรับชมได้ 1 หน้าจอและรับชมได้ทั้งสมาร์ทโฟนและทีวีซึ่งการรับชมผ่านทีวีเป็นบริการที่เกินความจำเป็นทำให้ผู้บริโภคไม่อยากที่จะจ่ายเพื่อซื้อบริการที่ไม่ได้ใช้

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก WeTV Thailand

 

ถึงเวลา “เทนเซนต์”ต่อยอด Streaming

สำหรับวี ทีวี (We TV) เป็นแบรนด์ใหม่ในตลาด VDO Streaming ที่ถูกจับตามองอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจจากเทนเซ็นต์ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซลูชั่น ซึ่งเข้ามาฝังตัวในไทยผ่านการเป็นผู้ให้บริการ Music Streaming หรือบริการฟังเพลงออนไลน์ภายใต้แบรนด์ JOOX ทั้งยังเป็นเจ้าของ www.sanook.com
โดยเทนเซนต์ ขยายฐานธุรกิจเข้าสู่ตลาด VDO Streaming ในเดือนมิถุนายน ปี 2562 ภายใต้แบรนด์ We tv วางตำแหน่ง (Positioning) ทางการตลาดไว้ที่การเป็น ‘ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย’

ปัจจุบันสัดส่วนคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มวีทีวีแบ่งเป็นออริจินัลคอนเทนต์ 70% และเอ็กซ์คลูซีฟ คอนเทนต์ คิดเป็น 30% ของคอนเทนต์ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่จะส่งตรงจากเทนเซ็นต์ พิคเจอร์ส ทำให้วี ทีวีมีจุดแข็งด้านซีรีส์จีนคุณภาพระดับโลก ล่าสุดเทนเซ็นต์ได้เข้าเทกโอเว่อร์ iflix แพลตฟอร์มวิดีโอ สตรีมมิ่ง สัญชาติมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อย เปิดให้บริการในไทยตั้งแต่ปลายปี 2558

ขณะที่ในปี 2563 วีทีวี ได้เพิ่มสัดส่วนคอนเทนต์จากเกาหลีและไทยมากขึ้นโดยล่าสุดได้ร่วมกับ3 พันธมิตร “จีเอ็มเอ็ม ทีวี” “ทีวี ธันเดอร์” และ “สตูดิโอ วาบิ ซาบิ” สร้างออริจินัลซีรีส์ แนววาย 3 เรื่องกิจกรรมให้เหล่าแฟนคลับสายวายตลอดครึ่งปีหลัง 2020 เพื่อตั้งเป้าขยายฐานผู้ใช้แอปพลิเคชัน We TV เพิ่มขึ้น 4 เท่าให้ได้ภายในสิ้นปีเล็งเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้หญิง อายุ 13 – 34 ปี รวมถึงการขยายไปยังกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเปิดรับคอนเทนต์วายมากขึ้น
ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทย ล่าสุดรุกกลุ่มกริ๊ดซีรีส์วาย เปิดโปรเจคซีรี่ย์ไทย “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’” จับมือ 3 พันธมิตร “จีเอ็มเอ็ม ทีวี” “ทีวี ธันเดอร์” และ “สตูดิโอ วาบิ ซาบิ” ปั้นออริจินัลซีรีส์ แนววายไทย 3 เรื่อง รวมถึงการเป็นพันธมิตรรายแรกของช่อง 3 ที่ได้รับสิทธิ์ในการออกอากาศละครแบบคู่ขนาน และรีรันละครแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

 

 

We Tv พลิกเกมใหม่ เปิดฟีเจอร์ Online Only

นอกจาก วี ทีวี จะใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างผ่านคอนเทนต์ที่ตอกย้ำความเอเชียแล้ว ยังได้เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับสมาชิกด้วยการทำให้การรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งเป็นการสื่อสารสองทิศทางในแบบ OO (Online Only)โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ ผ่านการใช้จุดเด่นของแพลตฟอร์มและความพร้อมด้านเทคโนโลยีของบริษัทแม่

เริ่มจากการฟีเจอร์พิเศษอย่าง “Flying Comment”เข้ามาใช้เป็นรายแรกเพื่อให้ผู้ชมสามารถคอมเมนต์ขณะชมซีรีส์ได้ แบบเรียลไทม์ โดยผู้ชมจะเห็นคอมเมนต์ของคนอื่นๆ ที่รับชมคอนเท้นต์เดียวกันบนแพลตฟอร์มของวี ทีวี ซึ่งจะให้ความรู้สึกเหมือนมีเพื่อนนั่งดูอยู่ด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ฟีเจอร์นี้มากกว่า 4 ล้านครั้ง

และล่าสุดกับความสำเร็จจากรายการ ‘CHUANG 2020’ วาไรตี้แนว Survival ด้วยรูปแบบรายการที่เฟ้นหาเด็กฝึกหน้าใหม่ 7 คนจากทั้งหมด 101 คนเพื่อสร้างเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่หนึ่งในนั้น คือ “เนเน่ – พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์” เด็กไทยหนึ่งเดียวในรายการผ่านการคัดเลือกมาเป็น 1 ใน 7 สมาชิก เกิร์ลกรุ๊ปวง ‘BonBon Girls 303’โดยรายการนำศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับเอเชียมาเป็นทีมโค้ชฝึกสอน

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก WeTV Thailand

 

สำหรับกลยุทธ์สำคัญที่ส่งให้กระแสรายการ ‘CHUANG 2020’ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมาจากการสร้างประสบการณ์ร่วมแบบ OO (Online Only) ที่ให้ผู้ชมส่งคะแนนโหวตให้กับเด็กฝึกที่ชื่นชอบผ่านฟีเจอร์โหวตบนแอปพลิเคชัน WeTV และให้สิทธิพิเศษให้กับสมาชิก WeTV VIP ด้วยการเพิ่มคะแนนการโหวตเป็น 2 เท่าเพื่อดึงดูดฐานแฟนคลับซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากด้วยสถิติจำนวนผู้ใช้งานที่ร่วมโหวตผ่าน “ฟีเจอร์โหวต” ในแอปพลิเคชัน มากถึง 400,000 บัญชี ตลอดทั้งซีซั่น

 

ขอบคุณที่มาภาพ : 

เฟซบุ๊ก WeTV ThailandNetflix