การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งในเรื่องความมั่นคงของรายได้ที่ลดลง และต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการฟื้นตัวกลับมา แม้กิจการ/กิจกรรม ต่าง ๆ เริ่มได้รับการผ่อนคลายให้สามารถกลับมาดำเนินการปกติได้แล้ว
ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการทางการเงินอื่นผ่านสมาคมและชมรมต่าง ๆ รวม 9 แห่งได้ร่วมกันออกมาตรการขั้นต่ำช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SME เพื่อบรรเทาผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งแต่ละมาตรการที่ออกมานั้นเริ่มทยอยครบกำหนดในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. 63 นี้
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 โดยมาตรการนี้จะเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้ยังคงมีกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและเพื่อประกอบอาชีพ
ด้านลูกหนี้ SME ได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ ตาม พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓
สำหรับรายละเอียดการช่วยเหลือระยะที่ 2 มีดังต่อไปนี้
1. การลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2 – 4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ แบ่งเป็น
- บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะวงเงินหมุนเวียน (revolving loan) ให้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
- สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผ่อนชำระเป็นงวด หรือสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ให้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ทำสัญญาใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
2. เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นการชั่วคราว (มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 2563 – 31 ธันวาคม 2564)
3. มาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ที่ได้รับผล กระทบจาก COVID-19 และไม่เป็น NPLs ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีทางเลือกความช่วยเหลือขั้นต่ำให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้เลือกตามประเภทสินเชื่อ และมีช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ เช่น บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile application) เว็บไซต์ ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (call center) และการส่งข้อความทาง SMS ที่ผู้ให้บริการทางการเงินจะจัดส่งผ่านหมายเลขโทรศัพท์ของลูกหนี้ ตามที่ลูกหนี้ได้แจ้งไว้ เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2563
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 นี้ เป็นเพียงความช่วยเหลือขั้นต่ำ ซึ่งผู้ให้บริการทางการเงินสามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าที่แบงก์ชาติกำหนดไว้ได้ และเมื่อมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 ครบกำหนด ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการขั้นต่ำนี้ต่อไปได้ตามความจำเป็นของลูกหนี้แต่ละราย
4. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้ เช่น โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราตลาด และกรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์ และต้องจัดให้มีช่องทางหรือกลไกแก้ไขหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย