สสว. ดีเดย์ 1 ต.ค. ขึ้นทะเบียน SME กว่า 1.26 แสนราย เข้าถึงงบจัดซื้อ-จัดจ้างภาครัฐฯ


สสว. เตรียมขึ้นทะเบียน SME กว่า 1.26 แสนรายทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมให้กับผู้ประกอบการได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นไป

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนส่งผลต่อรายได้ และขีดความสามารถทางธุรกิจที่ถดถอย

ดังนั้น สสว. เล็งเห็นถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะพื้นที่ท้องถิ่น และภูมิภาคสามารถเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐฯ ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐฯ-เอกชนกว่า 22 หน่วยงานรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 1.26 แสนราย เข้าสู่ระบบทะเบียน SME เพื่อให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว

ที่ผ่านมา สสว. ได้ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในนามคณะทำงานสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดดังกล่าว และจะเริ่มสะท้อนผลสำเร็จเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตามที่กรมบัญชีกลางเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นจาก สสว. ไปประกอบการพิจารณา

ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคผลิตและภาคบริการ ดังนั้นเพื่อกระจายการส่งเสริมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจของ SME สสว. จึงเสนอให้มาตรการดังกล่าวครอบคลุมภาคการค้าด้วย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ SME ได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น และเป็นการกระจายโอกาสการเข้าถึงตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพในพื้นที่ภูมิภาค

สำหรับ ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1) กำหนดสัดส่วนจัดซื้อจาก SME ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้า/บริการที่กำหนด โดยให้คัดเลือกจาก SME ในจังหวัดก่อน หากไม่มีในจังหวัดหรือมีจำนวนไม่ครบ 3 ราย สามารถคัดเลือกจากภายนอกจังหวัดได้ 2) การให้แต้มต่อร้อยละ 10 กับ SME ที่เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-Bidding สามารถเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดไม่เกินร้อยละ 10

ผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME และรายการสินค้าและบริการกับ สสว. โดยรายชื่อผู้ประกอบการ และสินค้า/บริการนี้จะมีการตรวจสอบ จัดหมวดหมู่ และนำเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางหน่วยงาน องค์กรเอกชนต่าง ๆ 11 แห่ง ประมาณ 440 ราย จาก 41 จังหวัด มีรายการสินค้าและบริการประมาณ 1,200 รายการ ใน 51 หมวดสินค้าและบริการ

ส่วนในระยะต่อไปจะเปิดให้ผู้ประกอบการทำการขึ้นทะเบียนได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิก และอยู่ในเครือข่ายของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนดังกล่าวข้างต้นรวม 126,320 ราย เข้าร่วมขึ้นทะเบียน SME เพื่อให้พร้อมรองรับการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับตั้งแต่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป