เนื่องด้วยทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทุกชีวิตบนโลกจึงไม่อาจเพิกเฉยต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการสัมผัสอันเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของบัณฑิตและญาติพี่น้อง
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2562 เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5 – 6 ตุลาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จ ฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2562 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พิธีในปีนี้ เพื่อการรักษาความปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing มหาวิทยาลัยมหิดลจึงอนุญาตให้เฉพาะบัณฑิตและเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในพิธีเข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และสแกน QR Code “ไทยชนะ” ก่อนเข้าพื้นที่
“บัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้มีประมาณ 6,000 ราย กำหนดให้เวียนเข้าหอประชุมใน 3 ช่วงเวลา ช่วงเวลาละประมาณ 2,000 ราย โดยมีการจัดให้บัณฑิตนั่งแบบที่เว้นที่สลับแบบฟันปลา และสวมหน้ากากอนามัยตลอดพิธี ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของบัณฑิตทุกคนที่ได้มีโอกาสแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลยังคงจัดพิธีที่มีการรักษาคุณค่าเดิมของการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แต่ปรับกระบวนการต่างๆ ตามมาตรการรักษาความปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BARTLAB) กล่าวเสริมว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย และ Social Distancing อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ บริเวณแท่นประทับ ซึ่งได้จัดทำแผงกั้นที่ทำจากอะคริลิคชนิดพิเศษ ที่มีความใส และทนทาน โดยออกแบบให้มีช่องสำหรับพระราชทานปริญญาบัตร และสามารถควบคุมให้เลื่อนขึ้น-ลงด้วยระบบไฟฟ้าจากระยะไกล ซึ่งเมื่อเสด็จฯ ประทับนั่ง แผงกั้นจะอยู่ในระดับต่ำ จนเมื่อเริ่มพิธีแผงกั้นจะเลื่อนขึ้น เพื่อให้พระองค์ได้พระราชทานปริญญาบัตรจากช่องที่ทำไว้ กระทั่งพระราชทานจนครบจำนวนแล้ว แผงกั้นจะเลื่อนลงอีกครั้งเมื่อทรงยืนขึ้นเพื่อทรงมีพระบรมราโชวาท
รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า ผู้ออกแบบและทีมงานได้ใส่ใจในทุกรายละเอียด ให้ระบบมีการขับเคลื่อนด้วยความเสถียรมากที่สุด โดยได้จัดเตรียมชุดสำรองไฟไว้ถึง 3 ชุด และมีการทดสอบไฟฟ้าสถิตย์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพิธี นอกจากนี้ได้มีการนำหุ่นยนต์ UVY และตู้อบฆ่าเชื้อ (Germ Buster) ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพระที่นั่ง และปกปริญญาบัตรอีกด้วย
อาจารย์ ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ทางภาควิชาฯ ได้ใช้ตู้อบฆ่าเชื้อขนาดใหญ่ จำนวน 2 ตู้ในการฆ่าเชื้อปกปริญญาบัตร ซึ่งแต่ละตู้ใช้รังสี UVC ซึ่งมีความยาวคลื่น 200 – 280 นาโนเมตร ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงไวรัสบนพื้นผิวได้อย่างสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 20 วินาที ซึ่ง 1 ตู้สามารถใส่ปกปริญญาบัตรเพื่อฆ่าเชื้อได้ครั้งละ 10 ใบ โดยในปีนี้ได้ทำการอบฆ่าเชื้อปกปริญญาบัตรเตรียมพร้อมไว้ก่อนพิธี แต่ในอนาคตจะพัฒนาให้มีรูปแบบที่สามารถฆ่าเชื้อให้พร้อมใช้ได้ทันที ณ บริเวณพิธี
สำหรับในส่วนของการฆ่าเชื้อ ณ บริเวณที่ประทับ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำหุ่นยนต์ UVY ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรล่าสุด โดยสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยระบบ AGV พร้อมแขนกล (COBOT) ที่ฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC โดยความโดดเด่นของหุ่นยนต์ UVY นั้นประกอบด้วย 1) สามารถจดจำเส้นทางได้จากการสอน 2) สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางของสถานีทำความสะอาดได้อย่างยืดหยุ่น 3) สามารถปรับแต่งเส้นทางผ่านระบบ IoTs 4) สามารถแผ่งรังสี UVC ที่มีความเข้มสูงในการฆ่าเชื้อลงสู่พื้นผิวได้ 5) สามารถจดจำขั้นตอนการทำงานในแต่ละสถานีที่ต้องการฆ่าเชื้อได้ โดยเคยได้มีการทดลองใช้อย่างได้ผลในโรงพยาบาลในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมา
ซึ่งกระบวนการฆ่าเชื้อที่นำมาใช้สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาในปีนี้ เชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
Source : มหาวิทยาลัยมหิดล