นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ไทยโดนตัด “GSP” ไม่มีผลภาคส่งออก


“อนุสรณ์ ธรรมใจ” ชี้ ผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทยไม่มากนัก จากการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทย 231 รายการ แต่เตือน เศรษฐกิจจะเจอผลกระทบจากปมเลือกผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทย เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนักจากการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทย 231 รายการ

และไม่มีความจำเป็นในการทำตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการในเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย และ ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ น่าจะตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อรักษาฐานคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรสหรัฐฯ

สินค้าไทย 231 รายการที่ถูกตัดสิทธิล่าสุดและมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม มีเพียง 147 รายการเท่านั้นที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ สินค้ากลุ่มนี้ (147 รายการ) มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อเสียภาษีเพิ่ม 4-5% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 20-30 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 640-960 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อบริษัทส่งออกขนาดกลางขนาดเล็กที่อาศัยตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลักจะกระทบมากพอสมควร ฉะนั้นต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนหากแข่งขันไม่ได้ในด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ อันเป็นผลที่ไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีแล้ว สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ กระปุกเกียร์ ผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายประเภท กรอบแว่นตา เคมีภัณฑ์ อลูมิเนียมแผ่นบาง เป็นต้น

ผลที่มีต่อตลาดการเงินในประเทศมีจำกัดแต่บริษัทที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์อาจได้รับผลกระทบบ้าง โดยราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางที่ราคาปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้อาจปรับฐานลดลงได้จากข่าวการตัดจีเอสพีดังกล่าว ส่วนความเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ ขณะที่ไทยยังคงใช้สิทธิและยังไม่ถูกตัดสิทธิจีเอสพีในสินค้าอีก 638 รายการ

โดยนายอนุสรณ์มองว่า ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมหาตลาดใหม่ๆ ไว้ทดแทนบ้าง เนื่องจากไทยอาจถูกติดสิทธิจีเอสพีจากการอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในระยะต่อไปและหาก “โจ ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งมีแนวโน้มสูงที่จะนำเอาประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และประชาธิปไตยมาเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น