ส่องผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP รอบล่าสุด เชื่อ SME “ส่งออก” ยังไหว


เป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐฯ ได้ทำการตัดสิทธิ์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ด้วยเหตุผลที่ว่าทางการไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมู และเครื่องในจากสหรัฐฯ รวมถึงมีการเลี้ยงดูด้วยสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์

นั่นหมายความว่า จะมีสินค้าไทยถึง 200 รายการ ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบประกอบด้วย ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องครัว อะลูมิเนียม หอย อาหารอบแห้ง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม

เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้มีความกังวลว่าสินค้าไทยจะสูญเสียตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของผู้ส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP พบว่าในปี 2562 มีมูลค่ามากกว่าคิดเป็น 40,300 ล้านบาท จากสินค้ารวมทั้งหมด 571 รายการ ขณะที่ในปี 2563 สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 200 รายการ

สอดคล้องกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่ออกมาประเมินว่า การตัดสิทธิ์ GSP ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก โดยนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทย เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนักจากการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าไทย 230 รายการที่ถูกตัดสิทธิมีเพียง 147 รายการเท่านั้นที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ สินค้ากลุ่มนี้ (147 รายการ) มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อเสียภาษีเพิ่ม 4-5% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 20-30 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 640-960 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อบริษัทส่งออกขนาดกลางขนาดเล็กที่อาศัยตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลักจะกระทบมากพอสมควร ฉะนั้นต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนหากแข่งขันไม่ได้ในด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ อันเป็นผลที่ไม่ได้รับสิทธิ์ GSP แล้ว

เช่นเดียวกับศูนย์วิจัย EIC ที่วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ์ GSP ครั้งล่าสุดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์คิดเป็น 0.2% ของสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนในเรื่องราคาสินค้าที่สูงขึ้นนั้นจะส่งผลต่อต้นทุนประมาณ 3.1% ถือว่ากระทบต่อยอดขายไม่มากนัก

แม้มองภาพรวมการตัดสิทธิ์ GSP จะยังทำให้สถานการณ์ยังไม่เลวร้ายเท่าไหร่นัก แต่การถูกตัดสิทธิ์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงซบเซา อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะยาวในเรื่องของการฟื้นตัว ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีแผนสำรองมองหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันในตลาดต่อไป

ทั้งนี้ ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละประเภท โดย EIC วิเคราะห์ว่าหากเป็นที่สินค้าที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม หรือสามารถถูกทดแทนได้จากสินค้าอื่น ย่อมส่งผลกระทบมาก ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องใช้วิธีลดราคาสินค้าก่อนรวมภาษีนำเข้า เพื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่กำไรลดลง ส่วนหากเป็นสินค้ายอดนิยม หาสินค้าอื่นทดแทนยาก อาจจะได้รับผลกระทบในวงจำกัด