เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ธ.กรุงไทย ในวันพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ


ธนาคารกรุงไทยแจ้งหนังสือไปยังตลาดหลักทรัพย์ถึงสถานะพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังคณะกรรมการกฤษฏีกามีความคิดเห็นว่าไม่มีลักษณะเป็นบริษัท หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

โดยในหนังสือชี้แจงว่า ธนาคารกรุงไทยได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน) แจ้งให้ทราบว่า สำนักงานกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาได้แจ้งผลพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีลักษณะเป็นบริษัท หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น จะต้องมีหน่วยงานของภาครัฐฯ เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งในกรณีของธนาคารกรุงไทยนั้น ถูกตีความว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 55.07% ไม่ได้มีสถานะความเป็นราขการและรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกองทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคล จึงทำให้ธนาคารกรุงไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามไปด้วย

นั่นหมายความว่า พนักงานที่ทำงานอยุ่ในธนาคารกรุงไทยก็จะพ้นสภาพความเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจไปด้วย รวมถึงหน่วยงานทางราชการที่ทำธุรกรรมร่วมกับธนาคารกรุงไทยจะต้องมีการออกกฎระเบียบใหม่ เพื่อไม่ให้ผิดระเบียบ และเกิดปัญหาตามมาภายหลัง

ใครคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารกรุงไทย

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารกรุงไทย 10 ลำดับแรก มีดังต่อไปนี้

ลำดับที่ 1 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวนหุ้น 7,696,248.833 คิดเป็นสัดส่วน 55.07%

ลำดับที่ 2 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 834,921.543 คิดเป็นสัดส่วน 5.97%

ลำดับที่ 3 STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวนหุ้น 362.902.099 คิดเป็น 2.60%

ลำดับที่ 4 สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด จำนวนหุ้น 326,090,300 คิดเป็น 2.33%

ลำดับที่ 5 กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 305,775.658 คิดเป็น 2.19%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารกรุงไทยถือเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าสินเชื่อปกตินาน 3 เดือน รวมถึงการพักชำระเงินต้น 12 เดือนให้กับลูกค้ารายย่อย ขยายเวลาชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อ Trade Finance ออกไปอีก 6 เดือนให้กับลูกค้าที่มีรายได้ลดลง และยังมีสินเชื่อกรุงไทยต้านภัยโควิด-19 เสนอให้กับลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ